SHECU จุฬาฯ จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2021 เสริมสร้างความรู้ควบคู่ชีวิตวิถีใหม่ มุ่งสู่ความปลอดภัยรอบด้านและยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday August 23, 2021 14:34 —ThaiPR.net

SHECU จุฬาฯ จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2021 เสริมสร้างความรู้ควบคู่ชีวิตวิถีใหม่ มุ่งสู่ความปลอดภัยรอบด้านและยั่งยืน

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 เวลา 13.00 - 16.00 น. คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี และศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2021 : ชีวิตวิถีใหม่สู่ความปลอดภัยอย่างยั่งยืน (New Normal Lifestyle for Sustainable Safety) ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 20 สิงหาคม 2564

งานสัปดาห์ความปลอดภัยจัดโดยคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ คปอ. จุฬาฯ ร่วมกับส่วนงานในมหาวิทยาลัย คือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม (สว.) ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (ศปอส.) และการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย คือ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) และสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและใช้ชีวิตที่มุ่งเน้นการบูรณาการแนวคิดทางวิชาการให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการวางแผนจัดการความปลอดภัยในอนาคต เพื่อส่งเสริมสังคมไทยสู่ความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

พิธีเปิดมีกิจกรรมเวทีเสวนาในหัวข้อ "เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตวิถีใหม่รั้วจุฬาฯ" เป็นการร่วมเสวนาโดยศาสตราจารย์ ดร. จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ทันตแพทย์ ดร. ณัฐวุฒิ คุตตะเทพ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพงศ์วิกรานต์ วิศรุตโชติกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความปลอดภัย บริษัท MBK จำกัด (มหาชน) พันธมิตรด้านการจัดการความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย พูดคุยในประเด็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อการเรียนการสอน การวิจัย และการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการกำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน นอกเหนือจากแนวทางการดูแลป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคแล้ว มหาวิทยาลัยยังกำหนดให้มีแนวทางการดูแล นิสิต บุคลากรในด้านสุขภาพจิต การจัดการความเครียดจากการเรียนการทำงานออนไลน์ ครอบคลุมไปถึงการเยียวยาช่วยเหลือจากผลกระทบด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจด้วย ตลอดช่วงการเสวนามีการนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอาคารสถานที่ทำงานในมหาวิทยาลัย อาทิ การเกิดอัคคีภัย ท่อประปาภายในอาคารและระบบการระบายอากาศเกิดการชำรุด เนื่องจากขาดการดูแลและใช้งานเป็นเวลานานในระหว่างที่มีการปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย พร้อมด้วยมุมมองและวิธีการจัดการความปลอดภัยช่วงสถานการณ์วิกฤตจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในมิติของผู้ประกอบการและการเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเวทีเสวนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร. เจษฎา ศาลาทอง จากคณะนิเทศศาสตร์

ช่วงท้ายของกิจกรรมพิธีเปิดมีการประกาศรางวัลของโครงการประกวดต่าง ๆ ได้แก่ โครงการประกวดคลิป Tik Tok หัวข้อ "ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน" การประกวดสื่อประชาสัมพันธ์คลิปวิดีโอขนาดสั้น หัวข้อ "New Safety Lifestyle of The Next Gen : วิถีความปลอดภัยใหม่ในแบบ NextGen" การประกวด "Chula Safety Ambassador 2021" และโครงการประกวดส่วนงานและบุคลากรด้านความปลอดภัยโดดเด่น ซึ่งมีนิสิต บุคลากร จุฬาฯ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมพิธีเปิดและการเสวนาครั้งนี้ผ่านระบบออนไลน์ Zoom และรับชมการถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊ก SHECU จำนวนมาก

ตลอดการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2021 ระหว่างวันที่ 18 - 20 สิงหาคม 2564 มีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ การอบรม สัมมนา และเวทีเสวนา โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมให้ความรู้ในหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม" การอบรม เรื่อง "การดูแลสุขภาพจิตกับการทำงาน-การเรียนออนไลน์" การอบรม เรื่อง "การป้องกันอัคคีภัย" และการสัมมนา เรื่อง "fake news ด้านความปลอดภัย" เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับชมกิจกรรมต่าง ๆ ย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ www.shecu.chula.ac.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ