YLGวิเคราะห์หากเฟดลดQEผลกระทบอาจไม่เท่าปี2556 เหตุปีนี้ทองคำมีปัจจัยพยุงทั้งดีมานด์จีน-อินเดียฟื้น,เงินเฟ้อยังสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 9, 2021 16:16 —ThaiPR.net

YLGวิเคราะห์หากเฟดลดQEผลกระทบอาจไม่เท่าปี2556 เหตุปีนี้ทองคำมีปัจจัยพยุงทั้งดีมานด์จีน-อินเดียฟื้น,เงินเฟ้อยังสูง

วายแอลจี วิเคราะห์ทิศทางทองคำหากปีนี้เฟดลดวงเงินทำ QE มองเกิดผลกระทบเชิงลบ แต่อาจไม่หนักเท่าปี 2556 เหตุปีนี้มี 3 ปัจจัยบวกสำคัญหนุนราคาทองคำในระยะยาว ทั้ง ปริมาณเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลังยังอยู่ในระบบมหาศาลบั่นทอนแนวโน้มดอลลาร์ ความต้องการทองคำจากจีน-อินเดียฟื้นตัวตามสัญญาณเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเฟ้อยังสูงส่งผลนักลงทุนบางส่วนซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง พร้อมยกข้อมูลปี 2556 ช่วงเฟดลด QE พบราคาทองคำจะตอบสนองในเชิงลบมากสุดก่อนเฟดออกนโยบาย และปรับขึ้นอีกครั้งหลังเฟดเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก แนะนักลงทุนช่วงนี้ยังทำกำไรตามรอบได้ ให้แนวรับสำคัญ 1,775-1,773 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แนวต้านระยะสั้น 1,809-1,814 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด TFEX เปิดเผยว่าการเคลื่อนไหวของทิศทางทองคำในช่วงนี้ยังเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวในระยะสั้น และพักฐานในระยะกลาง แต่ในระยะยาวสัญญาณยังดูดี ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวขึ้นลงสลับกันไปโดยมีปัจจัยหลักมาจากการรอดูทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ว่าจะมีการปรับลดวงเงินการทำ QE ภายในปีนี้หรือไม่ อย่างไรก็ดีเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2556 ซึ่งในปีนั้นเฟดได้ทำการประกาศลดการทำ QE ส่งผลให้ราคาทองคำในปีนั้น ปรับตัวลดลงถึง 28%

ทั้งนี้การปรับตัวลดลงของทองคำจากการลดวงเงิน QE ในปี 2556 นั้นจะมีจุดที่น่าสนใจ 3 ข้อ ดังนี้

  • ราคาทองคำจะตอบสนองในเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเฟดมากที่สุดในช่วงก่อนที่เฟดจะดำเนินการลด QE จริง
  • ราคาทองคำยังปรับตัวลงต่อในช่วงที่เฟดเริ่มลด QE ครั้งแรกไปจนถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก แต่การตอบสนองเชิงลบไม่มากเท่าระยะแรก และราคามีการปรับตัวลงทำระดับต่ำสุดในเดือนที่เฟดเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก
  • ราคาทองคำเริ่มยกฐานขึ้นนับตั้งแต่เฟดเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนธ.ค.ปี 2558
  • อย่างไรก็ตามหากเฟดมีการปรับลดวงเงิน QE ในปีนี้มองว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำที่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งปี 2556 เนื่องจากปัจจุบันราคาทองคำไม่ได้เคลื่อนไหวไปตามนโยบายเฟดอย่างเดียว แต่มาจากปัจจัยที่มากขึ้น และในปีนี้ก็ยังมีปัจจัยบวกที่น่าสนใจ 3 ข้อ ได้แก่

    แม้เฟดจะประกาศลดวงเงิน QE แต่ปริมาณเงินมหาศาลที่ทั้งธนาคารกลางและรัฐบาลสหรัฐอัดฉีดเข้าไปในระบบจะยังไม่หายไปทันที ซึ่งจะส่งผลให้การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในกรอบจำกัด

    ความต้องการทองคำที่เริ่มฟื้นตัวจากจีนและอินเดีย ซึ่งจีนเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอินเดียเองก็เริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการทองคำกลับมาอยู่ในระดับสูง
    อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนยังคงเข้าซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง

    ดังนั้นมองว่าหากเฟดปรับลด QE จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาทองคำอย่างแน่นอน แต่อาจจะไม่มากเท่าปี 2556 ส่วนคำแนะนำนักลงทุนนั้น ในระยะสั้น ระยะกลางยังสามารถทำกำไรตามรอบ โดยอาศัยการดูแนวรับแนวต้าน ในระยะสั้นมองแนวรับสำคัญที่ 1,775-1,773 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์หรือ 27,500.บาท แนวรับนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก หากหลุดควรตัดขาดทุน แล้วรอซื้อในแนวรับที่ต่ำกว่าเพราะถ้าหลุดแนวรับนี้ราคาทองคำจะพักฐานที่ลึกมากขึ้น ส่วนแนวต้านระยะสั้นอยู่ที่ 1,809 1,814 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ถ้าผ่านได้สามารถเข้าซื้อเพื่อทำกำไรได้ และหากดีดตัวขึ้นไปแนะนำให้ขายทำกำไรออกไปก่อน สำหรับแนวต้านสำคัญมองที่ 1,833 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ถ้าผ่านได้ถึงจะเป็นสัญญาณที่ดี

    ส่วนการให้บริการของ YLGย ยังคงมอบโปรโมชั่นลดค่าคอมมิชชั่น 80% สำหรับนักลงทุนในตลาด TFEX และได้เพิ่มโอกาสให้กับนักลงทุนหน้าใหม่สามารถซื้อขายทองคำออนไลน์เรียลไทม์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่น YLG Trader ที่รองรับระบบ iOS ทำให้นักลงทุนที่ต้องการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนสามารถลงทุนได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งมีความปลอดภัยสูง ส่วนนักลงทุนที่ไม่ได้ใช้ระบบ iOS สามารถสมัครออนไลน์ คลิก www.ylgopenacc.com หรือ ปรึกษาการลงทุนทองคำแท่ง Call center : 02 687 9892, 02 687 9893, 02 687 9888 ต่อ 1 สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนใน TFEX ซึ่งรวมการให้บริการเทรดทองคำ หุ้น และค่าเงิน คลิก https://www.ylgfutures.co.th/th/contact-us/contact-information


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ