อว.-สกสว.-บพข. หารือแนวทางสนับสนุนทุนวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความสามารถในการแข่งขัน ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID 19

ข่าวทั่วไป Monday September 20, 2021 17:01 —ThaiPR.net

อว.-สกสว.-บพข. หารือแนวทางสนับสนุนทุนวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความสามารถในการแข่งขัน ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID 19

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. รองศาสตราจารย์ ดร.พงศพันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะทำงานหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. และ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว ร่วมประชุมหารือกับตัวแทนนักวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผู้แทนจากภาคเอกชน โดยได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยเป็นภาคที่ควรได้รับการสนับสนุน เนื่องจากประเทศไทยมีจุดเด่นในภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ สามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ ล้านนา อยุธยา เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีการค้นคว้าวิจัยถึง "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์" ซึ่งสามารถนำมาเป็นสาระสำคัญของการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคตและช่วยให้ประเทศไทยสามารถค้นหาจุดเด่นในภาคการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ผ่านการบูรณาการร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ฯลฯ นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังมีจุดเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ มรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีการกระจายตัวอยู่แทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลกในด้านการท่องเที่ยว

โดยการประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การรับมือของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID 19 พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว ได้แก่

  • โครงการวิจัยการพัฒนาศูนย์ข้อมูลดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย และโครงการวิจัยการพัฒนาองค์กรอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยเพื่อความยั่งยืน โดย นายมงคล วิมลรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  • โครงการวิจัยการยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพเพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภายหลังภาวะวิกฤต โดย ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ประเด็นที่ 2 การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับการเติบโตภาคการท่องเที่ยวหลัง COVID 19 ได้แก่

  • โครงการวิจัยต้นแบบการบริหารจัดการ WellHotel เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ, โครงการวิจัยต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ จังหวัดภูเก็ต เพื่อยกระดับความปลอดภัยด้วยมาตรฐานสากล และโครงการวิจัยการพัฒนาสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดย ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ประเด็นที่ 3 ยกระดับความสามารถการแข่งขันและพลิกฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวบนฐานทุนทางวัฒนธรรม ได้แก่

  • โครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อการท่องเที่ยวบนฐานทุนทางวัฒนธรรมในเขตเมือง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธิป ศรีสกุลไชยรัก สถาบันอาศรมศิลป์
  • โครงการวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารไทยของชุมชน (Gastronomy Village Tourism) ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรองชายฝั่งทะเลตะวันออก (ระยอง-จันทบุรี-ตราด) บนรากฐานคุณค่าและภูมิปัญญาสู่ความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี สวนเพลง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ภายหลังการนำเสนอผลงานวิจัย รมว.อว. ได้กล่าวชื่นชมผลงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์และยืนยันถึงความสำคัญของภาคการท่องเที่ยว โดยได้มอบข้อเสนอแนะและแนวทางเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณวิจัยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวเพื่อนำพาประเทศไทยสู่การเป็นอันดับหนึ่งด้านการท่องเที่ยวของโลก ผ่านการนำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ ๆ การวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรธรรมชาติวิทยาด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งเสริมงานวิชาการของไทยในด้านการท่องเที่ยวสู่การเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของประเทศ โดยมิติด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นโจทย์หนึ่งที่ถูกกำหนดไว้ในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอดคล้องกับการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวทั่วโลก พร้อมทั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ในฐานะที่ บพข. เป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ จึงพร้อมที่จะเดินหน้าผนึกกำลังนักวิจัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอแนะและแนวทางดังกล่าวไปสานต่อสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ