NFT พลิกโฉมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่ "ตลาดศิลปะดิจิทัล"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 12, 2021 11:06 —ThaiPR.net

NFT พลิกโฉมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่

การเกิดขึ้นของตลาด NFT (Non-fungible Token) กำลังจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลก และถือเป็นโอกาสใหม่ของนักสร้างสรรค์ไทยและอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในการก้าวสู่ "ตลาดศิลปะดิจิทัล" หรือ "ตลาด NFT" ด้วยการแปลงผลงานของตนเองให้เป็นรูปแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้จากการขาย

NFT กับศิลปะในยุคดิจิทัล
NFT คือ สินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลง ซึ่งจะบันทึกอยู่ในระบบบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ดังนั้น นักสร้างสรรค์สามารถแปลงผลงานของตนเอง อาทิ งานศิลปะ เพลง ภาพยนตร์ ข้อความ วิดีโอ รูปภาพ หรือสินทรัพย์ทางกายภาพอื่น ๆ (Physical Asset) มาเป็นรูปแบบดิจิทัล พร้อมกับสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธ์ (Royalty Payments) จากการแปลงผลงานของตนเองเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรักษาความเป็นต้นฉบับ สร้างสภาพคล่องให้กับผลงาน

โดยช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล NFT (Non-fungible Token) ทั่วโลก ได้สร้างปริมาณการซื้อขายสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 47,250 ล้านบาท โดยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 2,627% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยตลาดซื้อขาย หรือ Marketplace ที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุด ได้แก่ NBA Top Shot, CryptoPunks, OpenSea และ Rarible ซึ่งคิดเป็น 73% ของปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด

CEA เตรียมพร้อมนักสร้างสรรค์ไทยสู่ตลาด NFT
ต่อเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เล่าว่า ในอนาคต NFT ยังมีอิทธิพลต่อหลายวงการของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งศิลปะ ดนตรี ทรัพย์สินทางปัญญา โฆษณา รวมไปถึงวงการอินฟลูเอนเซอร์ ที่มองหาความเป็น Original โดย NFT จะช่วยเปิดโอกาสให้ศิลปินเหล่านี้ได้รับผลตอบแทนจากผลงาน โดยการทำสิ่งที่เคยเป็นสาธารณะให้กลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัว อีกทั้งยังทำให้การซื้อขายงานศิลปะไร้ขอบเขตสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสีสันในวงการศิลปะและนักลงทุน รวมถึง Creative Economy ในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาดศิลปะดิจิทัล นักสร้างสรรค์ไทยจำเป็นต้องเข้าใจระบบทำงานของ NFT เป็นอันดับแรก ด้วยเหตุนี้ CEA และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จึงได้เล็งเห็นถึงโอกาสในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นทักษะแห่งอนาคตจึงได้จัดทำกิจกรรมและโครงการ เพื่อเสริมสร้างทักษะให้นักสร้างสรรค์ ได้แก่

  • โครงการ สรรสร้างโอกาสในตลาดดิจิทัลอาร์ตไปกับ NFT : ส่งเสริมความรู้และสร้างทักษะการจัดการ Non-Fungible Token (NFT) แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จำนวน 4 สาขา ได้แก่ ภาพถ่าย ดิจิทัลอาร์ต การออกแบบคาแรกเตอร์ และดนตรี โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 6 ราย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทักษะการบริหารจัดการ NFT พร้อมให้ข้อมูลเบื้องต้นและข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจกระบวนการทำงานในภาพรวมของ NFT ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน การตั้งค่ากระเป๋าเงินเพื่อการเก็บสินทรัพย์อย่างปลอดภัย การแลกเปลี่ยนอีเธอร์ (Ether) และวิธีการสร้าง (Mint) NFT โดยเนื้อหาในกิจกรรม ประกอบด้วย
    • การตลาด (การตั้งราคา การหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และการสร้างแบรนด์)
    • การบริหารและการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย Hardware wallet
    • การเปิดใช้งานตลาด NFT (OpenSea)
    • การตั้งเป้าหมาย และการสร้างสรรค์ผลให้มีประสิทธิภาพ
  • กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ NFT สำหรับนักสร้างสรรค์ : เป็นกิจกรรมสัมมนาเพื่อสนับสนุน (สนับสนุนค่าใช้จ่าย) การเข้าตลาด NFT และสร้างความตระหนักถึงตลาด NFT ให้เป็นที่รับรู้แก่นักสร้างสรรค์ศิลปินจากกลุ่มสาขาทัศนศิลป์ ภาพถ่าย กราฟิก การออกแบบคาแรกเตอร์ เสริมสร้างความเข้าใจต่อเทคโนโลยีบล็อกเชนและ NFT สร้างทักษะการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล และการบริหารจัดการหน้าร้านบนตลาด NFT รวมไปถึงการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล NFT ให้ปลอดภัย
  • นอกจากนี้ ปี 2565 CEA เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมรายได้ให้ นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง โดยการสร้างผลงานในกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลายไร้พรหมแดน เพื่อเปิดการขายผลงานในรูปแบบ NFT กำหนดเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมในเดือนมกราคม 2565 โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับอบรมเรียนรู้ ทำความเข้าใจในการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบ NFT จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างสรรค์งานเพลงใหม่ ที่ตอบรับตลาด NFT ซึ่งทีมงานจะคัดเลือก 10 ผลงานของผู้เข้าร่วม เพื่อให้เงินสนับสนุนพัฒนาผลงานเพลงดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น และนำผลงานทั้ง 10 เปิดขายในตลาด NFT เป็นครั้งแรก คอยดูแลและให้คำแนะนำเรื่องการขายแก่ผู้เข้าร่วม จนสามารถสร้างรายได้จากการขายผลงานชิ้นนี้

    ด้านนายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Bitcast กล่าวว่าในอดีตโลก Internet of Information หรือยุคของการส่งข้อมูลข่าวสาร เคยสร้างปัญหาให้ครีเอเตอร์ และปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จนก้าวเข้าสู่ยุค Internet of Value ครีเอเตอร์เริ่มมองเห็นหาทางในการรักษาสิทธิที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาได้แล้วด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยการทำให้งานศิลปะทุกชิ้นมีความแตกต่าง ด้วยการพัฒนามาตรฐานที่เรียกว่า Non-Fungible Token หรือ NFT ขึ้นมา โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนนับเป็นดาต้าเบสประเภทหนึ่งที่เก็บ Single of Truth หรือความจริงหนึ่งเดียวที่แก้ไขยาก จึงเอาคุณสมบัตินี้มาก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น โดยปกติไอเท็มในเกมมีความหลากหลาย มีทั้งไอเท็มธรรมดาใช้แทนกันได้เหมือน Fungible แต่ก็มีบางไอเท็มที่หายาก มีอยู่แค่ 2-3 ไอเท็มในโลก ก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ไอเท็มเหล่านี้มันมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

    สอดคล้องกับ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ Bitkub ที่ได้กล่าวถึง NFT และอนาคตวงการศิลปะดิจิทัลในกิจกรรมเสวนาออนไลน์ Creative Weekend ที่ CEA ร่วมกับ The Standard Pop ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเราเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างเป็นดิจิทัลข้อดีคือทุกอย่างรวดเร็วในการส่งถึงกันแต่ข้อเสียคือมันถูก copy ไว้ได้ทุกอย่างไม่อั้น แต่พอโลกของเรามีสิ่งที่เรียกว่าบล็อกเชนขึ้นมา มันทำสิ่งที่ตรงข้ามกับอินเทอร์เน็ต เราสามารถตรวจสอบสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้ แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนไปเร็วมาก เร็วกว่าที่ทุกคนคิดเยอะมาก ทุกคนอย่าประมาทความเปลี่ยนแปลงของโลกดูจากภาพรวมหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นการมาของเทคโนโลยี 5G, Big Data, AR, VR, IOT, AI รวมถึงบล็อกเชน จะเปลี่ยนแปลง Digital Economy มาแน่นอน ไม่มีใครหยุดการเปลี่ยนแปลงของโลก การมาของบล็อกเชนมันคือโอกาสและความเสี่ยง สำหรับคนกล้าเปลี่ยนแปลงและคนยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิม ๆ เราไม่จำเป็นต้องเก่งมากแต่เราจะต้องลงมือทำ ถ้าเราเข้าใจเทคโนโลยีประเทศไทยของเราจะหลุดกับกับดักรายได้ปานกลาง

    ศิลปะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์
    ไม่เพียงเท่านี้อุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยยังเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศและแผ่อิทธิพลทางความคิด โดยประเทศไทยที่ได้นำอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์พร้อมนำรายได้เข้าประเทศ โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมทัศนศิลป์มีแนวโน้มในการเติบโตไปในทิศทางที่ดี โดยช่วงปี 2557 - 2561 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมทัศนศิลป์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 18,021 ล้านบาทในปี 2557 เพิ่มสูงถึงกว่า 23,091 ล้านบาทในปี 2561 ซึ่งจากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมทัศนศิลป์มีอัตราเติบโตไปในทิศทางที่ดี และหากเปรียบเทียบอัตราการเติบโตกับค่าเฉลี่ยของ 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พบว่า ในช่วง 4 ปีแรก มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง แต่ในปีล่าสุดกลับมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

    ด้าน นางวรินดา เธียรอัจฉริยะ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) กล่าวเสริมว่า ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม โดยแต่ละปีคนไทยจ่ายเงินเกี่ยวกับศิลปะประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มที่จะเติบได้อีกมาก แต่กลับเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ค่อนข้างน้อย จำนวนผู้เข้าชมงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไม่ได้มีมากพอที่จะสร้างอำนาจต่อรองให้กับคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ได้เท่าที่ควร สมาชิกที่มารวมตัวกับสมาคมฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ภัณฑารักษ์ ศิลปิน โปรดิวเซอร์ กลุ่มผู้จัดงานศิลปะร่วมสมัย จึงเห็นร่วมกันว่าควรมารวมกันเพื่อให้มีตัวแทนในการประสานงานภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้น เป็นกระบอกเสียงที่ดังขึ้น และสามารถสร้างพลังการต่อรองที่เข้มแข็งมากขึ้น

    อย่างไรก็ดี คนยังมองว่าคนทำงานศิลปะคือไส้แห้ง แต่จริง ๆ มันเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวและทำรายได้ให้กับเมืองของเขาได้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ารัฐให้โอกาส ให้การสนับสนุนจริงจัง เราก็สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้เกิดเป็นกระแสเหมือน K-pop ของเกาหลีได้ เราอยากเห็นอุตสาหกรรมเราใหญ่ขึ้น อยากให้คนเข้ามาร่วมกับเราให้มากขึ้น ให้เราตัวใหญ่ขึ้น คนจะได้มองเห็นเรา ยิ่งมีคนหลากหลายวงการเข้ามาร่วม งานที่เราสร้างออกไปก็จะยิ่งมีเอกลักษณ์มากขึ้น ศิลปินเราเก่ง แค่มีเวทีให้เขาเท่านั้น จึงอยากฝากให้ภาครัฐเข้ามาร่วมกับเรา อยากให้คนในอุตสาหกรรมมารวมกลุ่มกับเรา มารวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน มันก็ช่วยให้การทำงานมีอิมแพกที่ใหญ่ขึ้นตามมา


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ