วารสารการเงินธนาคาร ฉลองครบรอบ 40 ปี จัดสัมมนาออนไลน์ รูปแบบ Virtual Seminar ในหัวข้อ "Thailand's Next Move : Looking Beyond Covid-19"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 19, 2021 11:23 —ThaiPR.net

วารสารการเงินธนาคาร ฉลองครบรอบ 40 ปี จัดสัมมนาออนไลน์ รูปแบบ Virtual Seminar ในหัวข้อ

ปิดฉากอย่างสวยงามสำหรับสัมมนาออนไลน์ รูปแบบ Virtual Seminar ในหัวข้อ "Thailand's Next Move : Lookin Beyond Covid-19" จัดโดย"วารสารการเงินธนาคาร" ผู้นำคอนเทนต์ด้านเศรษฐกิจการเงิน การลงทุน บนทุกแพลตฟอร์มอย่างครบวงจรมาอย่างยาวนาน และในโอกาสโอกาสฉลองครบรอบ 40 ปี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ผ่านทาง Facebook Fanpage : การเงินธนาคาร, Money and Banking Channel, Money Expo และ YOUTUBE CHANNEL : Money and Banking Channel ที่ผ่านมา

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "Looking Beyond Covid-19 : โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19" ว่า มาถึงวันนี้ 40 ปีผ่านไป โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็ยังคล้ายๆ เดิม ยังพึ่งพาการส่งออกในภาคเศรษฐกิจเดิมๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่แข็งแรง

ดังนั้น หากจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไป จะต้องเน้นด้านที่ไทยมีศักยภาพในการต่อยอด โดยเอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง ไทยมีความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถกรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้และในภาพรวม ต้องปรับให้สอดคล้องกับกระแสใหม่อย่างทันการณ์ ซึ่งในระยะข้างหน้า จะมีอย่างน้อย 2 กระแสที่เข้ามากระทบการวาง Growth Story ของเรา อย่างแรกคือ กระแสดิจิทัลที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง ส่วนอีกกระแสหนึ่งคือ Sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนที่สำคัญ Growth Story ข้างหน้า จะต้องเน้นการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม หรือ Inclusive Growth เพื่อให้เศรษฐกิจมีความทนทานต่อความท้าทายต่างๆ ได้มากขึ้น

ตัวอย่างแรกคือ ภาคเกษตรและอาหาร ที่เราเป็นฐานการผลิตสำคัญและถูกยกให้เป็นครัวของโลก ซึ่งถือเป็น "ทุน" ที่ดีในการต่อยอด แต่การส่งออกในหมวดนี้ เป็นสินค้าเกษตรพื้นฐาน หรือสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก ทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรมีรายได้ต่ำมาโดยตลอด รวมถึงภาคเกษตรยังใช้ทรัพยากรสูงและมีการใช้สารเคมี ทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม Growth Story ของไทยด้านนี้ จึงต้องเน้นยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้า Premium ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยเพิ่ม Productivity และความสามารถในการแข่งขัน ตั้งแต่การทำเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เพื่อช่วยลดต้นทุน การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และการใช้ Biopesticides จนถึงการมีแพลตฟอร์ม e-commerce เชื่อมเกษตรกรกับผู้ขายและผู้บริโภคโดยตรง และใช้ Digital Marketing ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ตลอดจนการผลิต Future Food ที่ใช้นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

อีกตัวอย่างคือ ภาคท่องเที่ยว ที่รายได้เติบโตจากปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมทั้งมีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ บางช่วงเวลา และบางจุดหมาย โดยเกือบ 80% ของนักท่องเที่ยวเดินทางไปเพียง 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก จนกลายเป็นปัญหา over-tourism ไทยจึงต้องปรับโมเดลให้มีภูมิคุ้มกันในระยะยาว โดยเพิ่มรายได้ต่อหัวเพื่อชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลง ในการเพิ่มรายได้นี้ ไทยควรต่อยอดจากจุดแข็งด้านธรรมชาติ Culture และ Hospitality ให้รวมไปถึงการสร้าง high value man-made attraction และ Experience ต่างๆ ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เช่น กลุ่ม health and wellness ที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงถึง 80,000-120,000 บาท

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เช่น กลุ่ม Green หรือ community-based tourism ที่เน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น จะช่วย "สร้างและกระจาย" รายได้ สูงกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิม จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างและเพิ่มการลงทุนเพื่อรองรับโมเดลใหม่นี้ อาทิ การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การลงทุนในระบบคมนาคมเพื่อเชื่อมเมืองรอง การลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์กระแส Contactless รวมถึงการยกระดับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์และต่อยอดให้ภาคท่องเที่ยวทั้ง Value Chain อย่างเช่น แพลตฟอร์ม TagThai ที่กำลังดำเนินการอยู่ และสุดท้าย ทำอย่างไร ให้ Growth Story ที่จะเน้นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มบนจุดแข็งที่ได้กล่าวมาเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแต่ละภาคส่วนที่จะต้องเร่งทำบทบาทของตัวเอง และการร่วมมือกับคนอื่นๆ ในการผลักดันการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ ให้สามารถรองรับความท้าทายได้ดีขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อสัมมนา พร้อมด้วยผู้บริหารในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนมาร่วมฉายภาพประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ทั้งเศรษฐกิจมหภาค ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน และธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้

Section 1 "Impact & Recovery : Financial Industry Outlook 2022" "วิกฤติโควิด-19 จุดเปลี่ยนสู่อนาคตธุรกิจการเงินไทย" โดย นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), "Transformation พลิกโฉมประกันชีวิต หลังยุคโควิด-19" โดย นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), "บทบาทโบรกเกอร์ปี 2022 กับการตอบโจทย์นักลงทุนไทย" โดย นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และ "เทรนด์กองทุนไทย 2022 : ความท้าทายของการบริหารความมั่งคั่ง" โดย นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด

Section 2 CEO Outlook : Thailand's Next Move 2022 "โอกาสและความท้ายของภาคธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจไร้สมดุล K-Shape Recovery" โดย นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

Section 3 : Investment Trend 2022 "เปิดธีมลงทุนหุ้นไทยหลังโควิด คัดหุ้น Super Stock เข้าพอร์ต" โดย นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายจัดการเงินทุนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด และ นายณัฐวัฒน์ อ้นรัตน์ Senior Executive Vice President บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอสซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด, "Investment Theme Post-Covid World : ส่องเทรนด์ลงทุนโลกหลังโควิด 2022" โดย นายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บัวหลวง จำกัด และ นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน), "คริปโทฯ พลิกโลกการเงินหลังโควิด 2020" โดย นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Satang Pro และกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

ข้อมูลปาฐกถาพิเศษ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อ่านเพิ่มเติ่ม >>> https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/speech-bot-seminar-online-thailands-next-move-181164

อ่านข้อมูลสัมมนาโดยละเอียดที่ >>> https://moneyandbanking.co.th/article/news/virtual-seminar-thailands-next-move-lookin-beyond-covid-19-181164


แท็ก Covid-19   facebook   thailand   วารสาร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ