ระวัง! เด็กติดจอนานเสี่ยง "ออทิสติกเทียม"

ข่าวทั่วไป Friday December 24, 2021 11:13 —ThaiPR.net

ระวัง! เด็กติดจอนานเสี่ยง

ระวัง! เด็กติดจอนานเสี่ยง "ออทิสติกเทียม"

ออทิสติกเทียมหรือพฤติกรรมคล้ายออทิสติก สาเหตุหลักก็มาจากการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของออทิสติกขึ้นมาทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด การเลี้ยงดูที่ว่านี้ก็คือ การไม่ปล่อยหรือส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย และใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงดู ซึ่งดูเหมือนว่าเด็กยุคใหม่ วัยเตรียมอนุบาลและวัยอนุบาลมีโอกาสเสี่ยงจะเป็นออทิสติกเทียมกันมากขึ้น แต่พฤติกรรมที่คล้ายออทิสติกนี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและใส่ใจดูแลลูกอย่างใกล้ชิด

พฤติกรรมคล้ายออทิสติก ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากสมองของเด็ก ไม่ได้เกิดจากตัวโรค แต่เป็นเพราะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ที่ชอบปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอนานเกินไป ไม่ว่าจะเป็นจอทีวี แท็บเล็ต มือถือ เพราะรู้สึกว่าเด็กอยู่นิ่ง ควบคุม ดูแลง่าย

การที่อยู่แต่กับหน้าจอทำให้เด็กได้รับการสื่อสารแค่ทางเดียว เล่นคนเดียว ไม่มีโอกาสได้ฝึกพูดโต้ตอบกับใคร การเลี้ยงดูแบบนี้นอกจากจะไม่กระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการตามวัยแล้ว ยังอาจทำให้แย่กว่าเดิม เพราะจากเด็กปกติก็อาจกลายเป็นเด็กไม่ปกติได้ เพราะเด็กจะสนใจเฉพาะเรื่องที่อยู่ตรงหน้า เรื่องที่สามารถดึงดูดเขาได้ จนกลายเป็นพฤติกรรมซ้ำๆ สมองจดจำแต่สิ่งเดิม ทำให้เด็กไม่มีการเรียนรู้ พัฒนาการต่างๆ ล่าช้าไม่ และทำให้เด็กไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

อาการของเด็กที่เริ่มมีภาวะออทิสติกเทียมจะคล้ายออทิสติกแท้ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้คือ เด็กจะไม่สนใจมองหน้าใคร ไม่สนใจจะพูดคุยกับใคร อาจจะพูดช้ากว่าวัย หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิมๆ ซ้ำๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าลูกเป็นออทิสติกหรือแค่มีพฤติกรรมที่คล้ายออทิสติก แนะนำให้พาเด็กเข้ารับการตรวจเช็คพัฒนาการกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยอาการและทำการรักษาอย่างถูกวิธี อาการก็จะดีขึ้นและกลับมาเป็นเด็กปกติได้

วิธีป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจในการดูแลลูกน้อย เลี้ยงลูกด้วยวิธีแบบธรรมชาติ เล่นกับลูก พูดคุย สื่อสาร พยายามหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้เด็กเรียนรู้จากพ่อแม่เป็นหลัก และหมั่นทำกิจกรรมร่วมกับลูกเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูก ให้ลูกได้เล่นของเล่น อย่างเช่น ตัวต่อ ระบายสี วาดรูป ฯลฯ เพื่อเสริมสร้างจินตนาการและการเจริญเติบโตทางด้านสมองอย่างเหมาะสมให้เด็ก และพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกๆ กิจกรรมของลูก และที่สำคัญควรพาลูกออกไปเจอโลกภายนอกบ้าง เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับสังคม เสริมสร้างพัฒนาการด้านปฏิสัมพันธ์ การสื่อสารกับผู้อื่นที่เหมาะสมตามช่วงวัยนั่นเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ