เปิดไอเดียสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ "พลังงานสะอาด" ที่ไม่ได้จำกัดแค่ครูสายวิทย์!

ข่าวทั่วไป Wednesday December 29, 2021 17:24 —ThaiPR.net

เปิดไอเดียสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้

เมื่อการทำสื่อการเรียนการสอนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานสะอาด ไม่ได้ขีดวงจำกัดเพียงแค่ครูสายวิทย์ จึงทำให้เกิดการบูรณาการทั้งวิทย์และศิลป์ จุดประกายไอเดียสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงานที่หลากหลาย กระตุ้นความสนใจให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้จากสื่อการสอนที่ตรงใจ ตอบโจทย์พฤติกรรมการเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีพันธกิจโดยตรงในการสร้างสังคมแห่งการเคารพและการเรียนรู้ร่วมกัน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 ให้เป็นผู้ดำเนิน "โครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด" โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านพลังงาน (Energy Literacy) ให้กับเด็กและเยาวชน ร่วมกับครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทุกกลุ่มสาระและอาชีวศึกษา ซึ่งมีครูจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 ทีม ระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - เดือนมีนาคม 2565

  • "ชีวิตติด ART" ขั้วศิลป์กับขั้ววิทย์รวมพลังพัฒนาสื่อพลังงานสะอาด

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ 2 ครูพลังงานสะอาด "ครูเน - ฐิตินันท์ ดุษฎี" ครูสายอาร์ต ผู้สอนวิชาทัศนศิลป์ และ "ครูวรรณ - วิภาวรรณ จิวเจริญ" ผู้สอนวิชาชีววิทยา คู่ซี้ต่างศาสตร์ จาก "ทีมชีวิตติด ART" โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี เกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้ากับวิถีชีวิตบริเวณพื้นที่รอบโรงเรียน ด้วยการบูรณาการศาสตร์สายวิทย์และสายศิลป์ ที่แม้จะคนละขั้ว แต่เมื่อรวมกันแล้วลงตัวสุด ๆ กับไอเดียสร้างสรรค์สื่อ Web Application ประเด็นการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า (Solar Power)

"โดยพื้นฐานแล้วรายวิชาวิทยาศาสตร์กับศิลปะมีความแตกต่างกันมาก ๆ อยู่แล้ว แต่ที่เราสามารถร่วมทีมกันได้เพราะใช้หลักของความเป็นเพื่อน เนื่องจากได้รับการบรรจุเป็นครูในเวลาใกล้เคียงกัน เริ่มจากความสัมพันธ์ตรงจุดนี้ก่อน หลังจากนั้นได้เปิดชุมนุม 'ชีวิตติด ART' (ชีวิต มีที่มาจากชีววิทยา และ ART ก็หมายถึง ศิลปะ) ในโรงเรียน โดยนำเนื้อหาวิชาศิลปะมาจับกับเนื้อหาของวิชาชีววิทยา และใช้เป็นชื่อทีมในการเข้าร่วมโครงการฯ กับภารกิจสร้างสื่อการเรียนการสอนที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เฉพาะวิชาการเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าของการใช้พลังงาน" ครูวรรณ บอกเล่าเรื่องราว

"เราอยากสะท้อนเรื่องราวการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่าจากวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ผ่านการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบ Web Application ที่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน ทั้งภาพ เสียง และข้อมูล โดยสื่อการเรียนรู้นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า (Solar Power) และพลังงานสะอาดในวิถีชุมชน สื่อสารด้วยข้อมูลที่เข้าใจง่ายในสไตล์ของครูชีววิทยา และการนำเสนอที่น่าสนใจ ด้วยลายเส้น สีสัน และเทคนิคใหม่ ๆ ในแบบฉบับของครูทัศนศิลป์ ประกอบกับภาพบรรยากาศจากสถานที่สวย ๆ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นดีในพื้นที่สังขละบุรีที่อัดแน่นทั้งสาระความรู้ และเกมเสริมความเข้าใจ เด็กจะได้ไม่เบื่อ ดูไม่เป็นทางการจนเกินไป และตอกย้ำให้เด็ก ๆ เห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัวมากขึ้น พร้อมทั้งสื่อสารออกไปยังประชาชนทั่วไปให้เห็นคุณค่าของการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า" ครูเน กล่าวเสริม

  • "The Power Girls" บูรณาการวิชาภาษาร่วมกับการเรียนรู้เรื่องพลังงาน

อีกหนึ่งคู่ครูพลังงานสะอาดสายศิลป์ "ครูนี๊ด - นางสาวมัณฑิตา สายัณ" ครูสอนภาษาจีน และ "ครูกวาง - นางสาววรัตดา รอดประชุม" ครูสอนภาษาไทย จาก "ทีม The Power Girls" โรงเรียนทุ่งโพธิ์วิทยา จังหวัดพังงา ที่ผสานไอเดียร่วมกันพัฒนา Web Application เรื่อง นายเตาถ่านตะลุยอาณาจักรความหวัง ซึ่งเป็นเรื่องราวของการตะลุยอาณาจักรความหวังไปกับ "นายเตาถ่าน" กับภารกิจสำรวจวัตถุดิบสู่แหล่งพลังงาน

"เราโคจรมาเจอกันเป็นเพราะมีความชอบที่เหมือนกัน บ้านอยู่ใกล้กัน และคิดว่าทำงานร่วมกันได้ จึงมาร่วมกันสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด โดยจับจุดจากการที่เราเป็นสายชอบเล่าเรื่อง และสายจินตนาการ ทำให้เราเลือกที่จะใช้ Web Application เป็นสื่อในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องพลังงานสะอาดให้กับเด็กนักเรียน เนื่องจากมองว่า Web Application เป็นสื่อที่ใช้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย และตรงกับสิ่งที่เราต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวของทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถใช้เป็นพลังงานสะอาดในจังหวัดพังงาที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยบูรณาการควบคู่ไปกับการเผยแพร่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชน" ครูกวาง กล่าว 

"Web Application เรื่อง นายเตาถ่านตะลุยอาณาจักรความหวัง จะเป็นเรื่องราวของเมือง 2 เมือง เหมือนการ์ตูนแอนิเมชัน แต่นำไปใส่ใน Web Application โดยมีตัวละครหลักคือ นายเตาถ่านที่เดินทางจากอาณาจักรถ่านหิน ไปยังอาณาจักรแห่งความหวังซึ่งมีแหล่งพลังงานมากมาย วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และสำรวจดูว่ามีแหล่งวัตถุดิบอะไรบ้างที่สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานได้ ซึ่งการจัดทำสื่อในครั้งนี้นอกจากการสร้างความตระหนักรู้เรื่องพลังงานสะอาดแล้ว เรายังสอดแทรกความรู้ด้านภาษาเข้าไปด้วย เช่น ชื่อเกาะ โดยแต่ละเกาะจะใช้พลังงานที่แตกต่างกัน และจะใช้ประโยชน์จากพลังงานนี้ได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้เราก็จะใส่รายละเอียดเรื่องภาษาไทยเข้าไป เช่น การตั้งชื่อเกาะตามชื่อแหล่งพลังงาน เช่น วายะ พสุธา วารี อัคคี ชีวะ รวมทั้งบูรณาการผสมผสานตัวอักษรจีนเข้าไปในสื่อด้วย เท่ากับว่านักเรียนจะได้สาระความรู้ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาจีน ไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ" ครูนี๊ด เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

  • "PreArch-RMUTL" ครูสถาปัตย์กับไอเดีย "สภาวะน่าสบาย" ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า

ปิดท้ายกับคู่หูครูสอนวิชาเตรียมสถาปัตยกรรมศาสตร์ "ครูก๊อป - นายกอรปพร นุกูลคาม" และ "ครูบอย - นัฐพงษ์ ไชยสารฟุ่น" จาก "ทีม PreArch-RMUTL" วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ที่จับมือกันพัฒนา Web Application ผสมผสาน Animation เรื่อง พลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (ลม) ที่จะสื่อสารเพื่อทำความรู้จักกับ "สภาวะน่าสบาย" ที่จะช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานภายในบ้านได้ดียิ่งขึ้น

"เราทั้งคู่เป็นครูสอนวิชาเตรียมสถาปัตยกรรมศาสตร์ ระดับ ปวช. และมีความสนใจเรื่องการผลิตสื่อการเรียนการสอน จึงเข้าร่วมโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด เพราะต้องการเรียนรู้วิธีการผลิตสื่อการเรียนการสอนที่กระตุ้นความสนใจและเกิดการเรียนรู้สำหรับเด็กในระดับอาชีวศึกษา เพื่อนำมาปรับใช้และสอดแทรกความรู้ด้านสถาปัตย์และพลังงานไว้ด้วยกัน เพื่อสื่อสารให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยใช้ Web Application เป็นหลัก และ Animation เป็นตัวเสริม สื่อสารใน 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ สภาวะน่าสบาย แสง และการใช้ไฟฟ้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มจาก Animation เพื่อให้ความรู้กับผู้เล่น ต่อด้วยการเล่นเกมผ่าน Web Application ในรูปแบบของการจัดวางเครื่องเรือน หรือเฟอร์นิเจอร์ตามจุดต่าง ๆ ภายในบ้าน แล้วเลือกหลอดไฟประเภทต่าง ๆ จากนั้น Web Application จะแสดงผลการใช้พลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าต่อเดือน หรือต่อปีที่อัตราเท่าไร" ครูก๊อป เล่าเหตุผลการเข้าร่วมโครงการฯ

 "ที่เราหยิบภาวะน่าสบายมาเป็นประเด็นในการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้เรื่องพลังงาน เนื่องจากมองว่าสภาวะน่าสบายเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน และเป็นเนื้อหาในสาขาวิชาเตรียมสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่พูดถึงเรื่องของสภาพแวดล้อม การออกแบบการจัดวางเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือนที่ตอบสนองความต้องการผู้อยู่อาศัย และตอบโจทย์การลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้มากที่สุด เช่น ไม่เอาตู้ไปบังทิศทางลม ทำให้ต้องเปิดพัดลม เปิดแอร์ หรือนำตู้ไปตั้งปิดช่องแสง ทำให้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และนำหลักการออกแบบและการจัดวางไปประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับการตระหนักรู้เรื่องพลังงาน ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้าภายในบ้าน นอกจากนี้เด็กยังสามารถนำความรู้ที่ได้ต่อยอดไปยังการประกอบอาชีพสถาปนิกในอนาคต" ครูบอย กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องราวดี ๆ ที่สะท้อนผ่านมุมมอง "ครูพลังงานสะอาด" พิสูจน์ให้เห็นว่า "ไม่ว่าจะเป็นครูที่สอนวิชาไหน ก็สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้เรื่องพลังงานได้" ถือเป็นมิติใหม่ที่เกิดจากการบูรณาการศาสตร์และศิลป์ผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว พร้อมร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อน "Clean Energy for Life" ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน.

 


แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ