Breast Cancer Positive Alliance ทุกภาคส่วนร่วมเสนอยุทธศาสตร์ยกระดับการจัดการมะเร็งเต้านม ตั้งเป้าลดจำนวนหญิงไทยเสียชีวิตลง 30 % ในปี 2030

ข่าวทั่วไป Monday March 14, 2022 16:22 —ThaiPR.net

Breast Cancer Positive Alliance  ทุกภาคส่วนร่วมเสนอยุทธศาสตร์ยกระดับการจัดการมะเร็งเต้านม  ตั้งเป้าลดจำนวนหญิงไทยเสียชีวิตลง 30 % ในปี 2030

มะเร็งเต้านม เป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มะเร็งเต้านมได้คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งทั้งหมด ด้วยตระหนักถึงความรุนแรงของวิกฤตสุขภาพดังกล่าว สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย (Thai Breast Society: TBS) จึงได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือ "Breast Cancer Positive Alliance" พร้อมเชิญตัวแทนหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบดูแลสุขภาพของประเทศ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อร่วมกันหารือและยกระดับแนวทางตรวจคัดกรองและรักษามะเร็งเต้านม โครงการความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในไทยลง 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการจะพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับ 3 ด้านต่อไปนี้อย่างเร่งด่วน ได้แก่ 1. กระบวนการการคัดกรอง (screening) 2. ระบบบันทึกทะเบียนข้อมูลมะเร็ง (data registry) และ 3. แนวทางเวชปฏิบัติระดับประเทศ (Thailand Clinical Practice Guidelines: CPG) เพื่อช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคและผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม เพิ่มอัตราการรอดชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

แม้ไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อมูลระดับทุติยภูมิ (secondary data) ที่ได้จากงานวิจัยระดับนานาชาติ กลับพบว่าอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยยังต่ำกว่าฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และออสเตรเลีย โดยความท้าทายประการแรกที่ระบบการดูแลสุขภาพของไทยพยายามหาทางจัดการอยู่ในปัจจุบัน คือ การไม่สามารถระบุอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างชัดเจน เช่น ไม่มีข้อมูลจำเพาะของกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในแต่ละระยะและข้อมูลผลการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้เป็นตัวแทนข้อมูลระดับประเทศได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นเพราะทะเบียนมะเร็งเต้านมมักมีการบันทึกและจัดเก็บเฉพาะในโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังไม่มีการจัดทำในระดับประเทศ ส่วนความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ที่จำเป็นในชนบท เช่น รถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา การตรวจยีนที่ครอบคลุม การกระจายตัวของแพทย์สหสาขาวิชาเพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็ง (Multidisciplinary Team for Cancer Treatment: MDTs) เป็นต้น ซึ่งความขาดแคลนเหล่านี้ส่งกระทบต่อเส้นทางการรักษา (patient journey) ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย และแนวทางการรักษา ดังนั้น โครงการความร่วมมือ "Breast Cancer Positive Alliance" นี้จึงเปรียบเสมือนก้าวแรกที่แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอย่างใกล้ชิดและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย ร่วมกันอภิปรายถึงปัญหา พร้อมแสวงหาทางออก โดยมีการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมใน 3 ด้าน ต่อไปนี้

ประการแรก ประเทศไทยควรส่งเสริมกระบวนการคัดกรอง (early screening) โดยกำหนดปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งเต้านมให้ชัดเจน แนะนำวิธีการตรวจคัดกรองที่เหมาะสม เช่น การคลำเต้านมด้วยตนเอง (self-examination) หรือจัดทำแบบคัดกรองเบื้องต้นแก่ประชากรแต่ละกลุ่มตามระดับความเสี่ยง หากพบความผิดปกติหรือมีปัจจัยเสี่ยงสูงจึงค่อยเข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัยโดยบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระงาน ลดความหนาแน่นของผู้ป่วยที่เข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัยโดยไม่จำเป็น และเพิ่มความคุ้มค่าของการทำแมมโมแกรมอีกด้วย ส่วนในทางกลับกันกระบวนการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพยังช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมาถึงมือแพทย์ก่อนที่ระยะของโรคจะลุกลาม ทำให้แพทย์สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าไว้ได้ และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วย

รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "แต่ละประเทศมีความพร้อมด้านเครื่องมือและบุคลากรแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยนั้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สูงสุด ทุกฝ่ายจึงควรหารือและสร้างแนวปฏิบัติเดียวกันทั้งประเทศ ว่าประชากรไทยกลุ่มใด (ช่วงอายุ, ประวัติการเกิดมะเร็งเต้านมในครอบครัว, ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ) เหมาะกับการตรวจคัดกรองรูปแบบใดมากที่สุด จากนั้นจึงค่อยทำให้สิทธิการเบิกจ่ายครอบคลุม เพื่อให้คนไทยเข้าถึงกระบวนการคัดกรองและวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีตัวเลือกการรักษาที่หลากหลายขึ้น และมีแนวโน้มที่จะรอดชีวิตมากขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต"

ประการที่สอง ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการบันทึกและจัดเก็บทะเบียนมะเร็งเต้านมในระดับประเทศ (national data registry) เนื่องจากที่ผ่านมาสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute: NCI) เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ แต่พบปัญหาอยู่บ้าง เช่น ข้อมูลตกหล่น แยกเก็บเป็นส่วน ๆ หรือไม่ละเอียดเพียงพอ เป็นต้น ส่งผลให้การรวบข้อมูลสู่ศูนย์กลางเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์การดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระดับประเทศยังไม่อาจเป็นจริงได้ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอแนวทางการรับมือกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการระบุช่วงเวลาที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องนำส่งข้อมูลให้ชัดเจน การออกแบบวิธีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้ได้รายละเอียดที่จำเป็นครบถ้วน การเพิ่มความสะดวกต่อการเรียกดูข้อมูล อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายควรคำนึงถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) เพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมด้วยเช่นกัน

ประการสุดท้าย ประเทศไทยควรมีการปรับแนวทางเวชปฏิบัติระดับประเทศ (Thailand Clinical Practice Guidelines: CPG) ให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากแนวทางเวชปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้กำหนดขึ้นโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute: NCI) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ทว่า ความรู้ทางการแพทย์และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมพัฒนารุดหน้าไปมาก นอกจากนี้ มาตรฐานการรักษาในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีความพร้อม เมื่อเทียบกับต่างจังหวัดยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ เช่น ในบางพื้นที่การตัดเต้านม (mastectomy) เป็นแนวทางการรักษาหลัก แทนที่จะใช้การฉายแสงหรือการผ่าตัดสงวนเต้า (Breast Conserving Surgery: BCS) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยยังคงคุณภาพชีวิตที่ดีเอาไว้ได้

ก้าวแรกของโครงการความร่วมมือ "Breast Cancer Positive Alliance" สะท้อนให้เห็นว่า ระบบดูแลสุขภาพผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของประเทศไทยยังต้องการการพัฒนาในหลายด้าน เพื่อยกระดับเส้นทางการตรวจคัดกรองและการรักษาให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ความเสมอภาคและการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับเจตนารมณ์ขององค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติ .


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ