เอ็มเอฟซีเร่งบริหารกองทุนสึนามิ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์ เตรียมระดมทุนก้อนแรก 22 ก.พ.นี้

ข่าวทั่วไป Wednesday February 16, 2005 17:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--ธอมสัน พับบลิค รีเลชั่นส์
บลจ.เอ็มเอฟซี เดินหน้าบริหารจัดการกองทุนสึนามิ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์ ส่งทีมเจ้าหน้าที่เจรจาตรงผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาแจงการเข้าไปช่วยเหลือของกองทุนฯมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการฟื้นตัวได้โดยไม่ได้หวังครอบงำกิจการ และมีกำหนดระยะเวลาที่แน่ชัดในการเข้าไปถือหุ้น ล่าสุดสถาบันการเงินเตรียมลงขันก้อนแรก 22
กุมภาพันธ์นี้
ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าของการบริหารกองทุนเปิดเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ (Tsunami Recovery Fund) ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยการบริหารจัดการแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การระดมทุนเข้ากองทุนฯ โดยสถาบันที่ร่วมลงทุนจะนำเงินก้อนแรกเข้าสู่กองทุนฯในวันที่ 22 ก.พ. นี้ จากนั้นจะทยอยนำเงินเข้ากองทุนจนครบ 1,400 ล้านบาทภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2548 โดยเงินจำนวน 1,400 ล้านบาทจะมาจากธนาคารออมสิน 500 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 200 ล้านบาท และสมาคมธนาคารไทย700 ล้านบาท
ส่วนการเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาจากเหตุการณ์สึนามินั้นจะแบ่งการพิจารณาเป็น 2 ประเภทคือ ลำดับแรกจะพิจารณาจากรายชื่อลูกค้าธนาคารที่ต้องการความช่วยเหลือกรณีที่เป็นลูกค้าธนาคารกองทุนจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และอีกประเภทคือผู้ประกอบการที่บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ลงพื้นที่และเข้าไปติดต่อโดยตรง ซึ่งหลังจากที่ได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ภาคโต้ โดยเฉพาะจังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต มีผู้ประกอบการสนใจเข้ามารับฟังรายละเอียดของการดำเนินงานของกองทุนสึนามิ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์ ประมาณ 30 ราย และได้มีการเจรจาติดต่อกันแล้วอย่างจริงจังประมาณ 6 รายรวมมูลค่าของธุรกิจประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดว่าต้องใช้เงินเข้าไปช่วยฟื้นฟูกิจการทั้ง 6 รายประมาณ 500 ล้านบาท
สำหรับหลักเกณฑ์การเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการมี 3 แนวทางคือ เกณฑ์ทางด้านกฎหมาย เช่น ต้องผ่านข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฯลฯ เกณฑ์ทางด้านธุรกิจ เช่น เป็นกิจการที่มีแนวโน้มเติบโต มีการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล มีความสามารถในการทำกำไรในอนาคต ฯลฯ และเกณฑ์ทางด้านสังคม โดยจะพิจารณาถึงผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เช่น เรื่องอัตราการจ้างงาน และมาตรการการรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยกิจการที่กองทุนฯจะเข้าไปช่วยเหลือ ควรเป็นกิจการที่เมื่อเข้าไปฟื้นฟูแล้วสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ได้แก่ พังงา
ภูเก็ต กระบี่ สตูล ระนอง และตรัง และมีขนาดธุรกิจเกินกว่า 200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปฟื้นฟูกิจการของกองทุนสึนามิ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์ มุ่งที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาให้สามารถฟื้นตัว และดำเนินกิจการต่อไปได้ในลักษณะของการเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้หรือตราสารทุน หรือกึ่งหนี้กึ่งทุน หรือหุ้นกู้บุริมสิทธิ์ โดยกองทุนฯไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าไปเทคโอเวอร์หรือครอบงำกิจการแต่อย่างใด การเข้าไปถือหุ้นของกองทุนฯมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนคือประมาณ 10 ปี และหากผู้ประกอบการรายใดสามารถฟื้นตัวได้ก่อนก็สามารถไถ่ถอนหุ้นคืนได้ โดยกองทุนจะขายหุ้นให้กับผู้ประกอบการเดิมก่อน ซึ่งคาดว่าภายใน 3-5 ปีผู้ประกอบการคงสามารถฟื้นตัวและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักกรรมการผู้จัดการ
คุณสุทรรศิกา และคุณสุวรรณา โทร.0-2661-9000 ต่อ 704, 706
ธอมสัน พับบลิค รีเลชั่นส์
คุณศริญญา แสนมีมา โทร. 0-2260-0820 ต่อ 3179
คุณชณินทร สินวัต โทร. 0-2662-3299--จบ--

แท็ก สึนามิ   ก.พ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ