กุมารแพทย์ CHG ห่วง เด็กติดโควิด-19 เพิ่ม แนะเร่งฉีดวัคซีนป้องกัน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 19, 2022 10:37 —ThaiPR.net

กุมารแพทย์ CHG ห่วง เด็กติดโควิด-19 เพิ่ม แนะเร่งฉีดวัคซีนป้องกัน

กุมารแพทย์ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ แนะนำ ผู้ปกครองเร่งพาบุตรหลานวัยต่ำกว่า 12 ปี รับการวัคซีนป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เตือนแม้หายแล้วยังต้องระวังอาการหลังป่วย ล่าสุดกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ทั้ง 14 แห่ง พร้อมรับสถานการณ์และยกระดับดูแลผู้ป่วยสุดกำลัง

นายแพทย์เจริญ เดโชธนวัฒน์ กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2565 มีเด็กติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวม 13,600 คน แบ่งเป็นกลุ่มอายุ 0-2 ปี ติดเชื้อสะสม 4,448 คน. กลุ่มอายุอายุ 3-4 ปี ติดเชื้อสะสม 3,212 คน และกลุ่มอายุ 12-17 ปี ติดเชื้อสะสม 12,126 คน โดยกลุ่มอายุ 0-4 ปี และ 5-9 ปี ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากในครอบครัว ขณะที่กลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 15-19 ปี ติดเชื้อจากนอกบ้าน ทั้งนี้เด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี เป็นช่วงวัยที่มีแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ติดต่อได้ง่าย จึงทำให้เกิดการระบาดภายในครอบครัว ประกอบกับสถานศึกษาหลายแห่งที่เปิดเรียนแบบ on-site ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในสถานศึกษา รวมทั้งยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็ม  ส่งผลให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ในเด็กเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 5 -11 ปี

นายแพทย์เจริญ กล่าวอีกว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 กว่าร้อยละ 90 อาการไม่รุนแรง โดยกลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว โดยขณะนี้ มีเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 (กลุ่มผู้ป่วยสีแดงและสีเหลือง) พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ และโรงพยาบาลในเครือประมาณ 200 ราย และมีบางส่วนที่รักษาตัวใน Hospitel หรือ Home Isolation โดยกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ พร้อมดูแลรักษาอย่างเต็มที่และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการการรักษาของกลุ่มโรงพยาบาลได้ทุกสิทธิ

อย่างไรก็ตาม เด็กที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 2 เดือน บางรายอาจมีอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ด้วยภาวะอาการ Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C)  มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ผื่นขึ้นตามตัว มีอาการช็อค ลักษณะอาการคล้ายโรคคาวะซากิ ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

ทั้งนี้ การดูแลและป้องกันเด็กจากการติดเชื้อโควิด-19 ผู้ปกครองควรให้เด็กเล็กหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น เลี่ยงการสัมผัสวัสดุต่างๆในที่สาธารณะ เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก, ล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ยกเว้นเด็กแรกเกิดถึง 2 ปี เพราะระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงต่อภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้ พร้อมพาบุตรหลานที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ไปรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) เพื่อป้องกันป้องกันการป่วยหนักจากโควิด-19 รวมทั้งลดภาวะการเกิด MIS-C โดยวัคซีนเข็มแรกกับเข็มที่สองควรห่างกันอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์

"เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 แม้จะไม่มีอาการรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ การพาบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนซึ่งติดต่อได้ง่ายมากในขณะนี้ นับเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ" นายแพทย์เจริญ กล่าว

ขณะที่ แพทย์หญิงธัญลักษณ์ ศรีบูระเดช ผู้อำนวยการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ เปิดเผยว่า กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ทั้ง 14 แห่ง พร้อมให้การดูแลประชาชนในการตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ครอบคลุมทุกสีและผู้ป่วยในทุกสิทธิฟรี ทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ  ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ได้จัดเตรียมเตียงไว้ไม่ต่ำกว่า 300 เตียง พร้อมผนึกกำลัง 3 องค์กร ซีพี - ดับบลิวเอชเอ - จุฬารัตน์ จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จำนวน 400 เตียง เทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐาน พร้อมห้องแล็บ ห้องเอกซเรย์ ณ โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ จังหวัดสมุทรปราการ, การจับมือโรงแรมต่างๆ เปิด Hospitel ให้การรักษาและสังเกตอาการ และจัดบริการ Home Isolation ดูแลผู้ป่วยที่บ้านในขณะนี้ไปแล้วประมาณ 50,000 คน  และหากผู้ป่วยกลุ่ม Home Isolation รายใดอาการหนักก็จะรับตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสนาม หรือที่โรงพยาบาลในกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ทันที

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งกลายพันธุ์ ยิ่งแพร่เชื้อได้ง่าย ประกอบกับอาการสังเกตได้ยาก รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการกิจกรรมทางสังคม. ทำให้ประชาชนขาดการระวังตัว และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น ซึ่งประชาชนควรใส่ใจในการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้บ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และสิ่งสำคัญควรได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส เพื่อลดความรุนแรงของอาการและการเสียชีวิต โดยกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ทั้ง 14 แห่ง พร้อมให้บริการคำปรึกษาและการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทุกราย ตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลคนไทยทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครอบคลุมทุกกรณี

"อนาคตโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหากรู้จักการดูแลป้องกันตัวเองได้ดี ก็สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ แต่ถ้าติดเชื้อก็ต้องรีบรักษา เมื่อไม่สามารถเลี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ ก็ต้องยอมรับและอยู่อย่างมีสติไม่ต้องกลัว" แพทย์หญิงธัญลักษณ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ