โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สิทธิในที่อยู่อาศัย : คนไทยต้องรวมใจกำหนด”

ข่าวอสังหา Monday March 17, 2008 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.-- ๑. หลักการและเหตุผล ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “สิทธิมนุษยชนถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องประกันสิ่งพื้นฐาน ได้แก่ อาหาร สุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย การคุ้มครองครอบครัว ประชาธิปไตยการมีส่วนร่วม การปกครองของกฎหมาย การป้องกันการค้าทาส การทรมาน การปฏิบัติ และการลงโทษที่ขัดความเป็นมนุษย์” โดยที่สิทธิด้านที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ที่เป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มิได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิที่อยู่อาศัยไว้แต่อย่างใด จะมีแต่เพียงการบัญญัติถึงบุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยตามมาตรา ๕๔ ว่า “บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ” แต่ขณะนี้ปัญหาการไล่ที่อยู่อาศัยของคนจนก็ยังคงมีเป็นจำนวนมาก หลายชุมชนต้องประสบปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและการอ้างเอกสารสิทธิ หลายชุมชนต้องเผชิญกับการถูกขับไล่ที่ทั้งจากหน่วยงานของทางราชการ และจากนายทุนที่อ้างต้นว่าเป็นนักพัฒนาที่ดิน หลายชุมชนมีความขัดแย้งกับหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรับผิดชอบอันเกี่ยวข้องกับกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยยังคงเป็นปัญหาสำคัญของคนไทย แม้ว่า ภาคประชาชนจะได้รับการส่งเสริมความรู้และทักษะในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยด้วยตนเองจากหน่วยงานหรือองค์กรเอกชนต่างๆ มากมายเพียงใด แต่ทว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ หากปราศจากความ ร่วมมือและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะหน่วยงานราชการซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและที่ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลจัดการการใช้ที่ดินของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ในเรื่องสิทธิที่อยู่อาศัย เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และเพื่อเป็นการเสนอแนะนโยบายเรื่องสิทธิที่อยู่อาศัยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมการด้าน สิทธิที่อยู่อาศัยจึงจัดให้มีโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้เรื่องสิทธิที่อยู่อาศัย เรื่อง “สิทธิในที่อยู่อาศัย : คนไทยต้องรวมใจกำหนด” โดยจัดให้มีกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิที่อยู่อาศัย เสริมสร้างเครือข่ายด้านสิทธิที่อยู่อาศัยให้มีความเข้มแข็ง มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิที่อยู่อาศัยให้กว้างขวางและทั่วถึง อันจะส่งผลต่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและความมีศักยภาพของประชาชนโดยรวมต่อไปในอนาคต ๒. วัตถุประสงค์ ๑. เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิที่อยู่อาศัยในส่วนภูมิภาค โดยเน้นให้ชุมชนประสานความร่วมมือและเกิดการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดการที่อยู่อาศัย ๒. เพื่อเป็นการเปิดเวทีระดมความคิดเห็น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสิทธิที่อยู่อาศัยร่วมกันภายใต้สถานการณ์ปัญหาที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน อันจะนำไปสู่การสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ข้อกำหนด หรือระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ๓. ผู้เข้าร่วมสัมมนาและคณะทำงาน : รวมจำนวน ๙๐ คน ประกอบด้วย ภาคประชาชน กลุ่มเครือข่ายที่อยู่อาศัยในจังหวัดพังงา จำนวน ๕๕ คน ภาคประชาสังคม จำนวน ๑๐ คน ประกอบด้วย - มูลนิธิเอเชีย โครงการช่วยเหลือกฎหมายแก่ผู้ประสบภัย - องค์การแอคชั่นเอด ประเทศไทย ( ActionAid Thailand ) - มูลนิธิรักษ์ไทย - ศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน - มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ - โครงการสิทธิชุมชน - สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หน่วยงานราชการ จำนวน ๑๔ คน ประกอบด้วย - จังหวัดพังงา - สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพังงา - สำนักงานที่ดินจังหวัดพังงา - อุทยานแห่งชาติศรีพังงา - เทศบาลเมืองพังงา เทศบาลเมืองตะกั่วป่า - เทศบาลตำบลบ้านนา เทศบาลตำบลท้ายเหมือง เทศบาลตำบลคุระบุรี - องค์การบริหารส่วนตำบลคึกคัก องค์การบริการส่วนตำบลบางม่วง - องค์การบริหารส่วนตำบลตำตัว คณะทำงาน จำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วย - กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๑ คน - อนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๑๐ คน ๔. วิธีดำเนินงาน ๑) การจัดกระบวนการกลุ่มเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ๒) การบรรยายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชนในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในที่อยู่อาศัย ๓) การอภิปรายเพื่อพิจารณาแนวทางในการพิทักษ์สิทธิของชุมชนและการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิในที่อยู่อาศัย ๔) การร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอปัจจัยในการเกื้อหนุนให้เกิดการปฏิบัติเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปกป้อง ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในระดับพื้นที่ต่อไป ๕) การร่วมระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ๕. วัน เวลา และสถานที่ วันพุธที่ ๑๙ — วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๑ ณ ห้องประชุมโรงเรียนบ้านบางม่วง ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ๖. ผู้รับผิดชอบ คณะอนุกรรมการสิทธิด้านที่อยู่อาศัย ๗. ผลที่คาดว่าจะได้รับ ๑. ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิในที่อยู่อาศัย และมีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๒. เครือข่ายด้านสิทธิที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดพังงามีศักยภาพในการปกป้อง ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านที่อยู่อาศัย ๓. เกิดการประสานความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ