เซ็นทาราเผยผลประกอบการไตรมาส 1 ประจำปี 2565

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday May 17, 2022 16:01 —ThaiPR.net

เซ็นทาราเผยผลประกอบการไตรมาส 1 ประจำปี 2565

ไตรมาส 1/2565 เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรายได้ธุรกิจอาหารและโรงแรมที่เพิ่มขึ้น รับเปิดประเทศ และผ่อนคลายการควบคุมโรค กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBIT) 184 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนปีที่แล้ว ขาดทุนสุทธิลดลงกว่า 90%

ไตรมาส 1/2565: บริษัทฯมีรายได้รวม 3,882 ล้านบาท (ไตรมาส 1/2564: 2,774 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1,108 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 40%) รายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากธุรกิจอาหารและธุรกิจโรงแรม ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทฯ มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 951 ล้านบาท (ไตรมาส 1/2564: 486 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 465 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 96%) เทียบปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 24% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน (ไตรมาส 1/2564: 18%) บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBIT) จำนวน 184 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 157% เทียบกับปีก่อน (ไตรมาส 1/2564: ขาดทุน 324 ล้านบาท) ในขณะที่ผลขาดทุนสุทธิปรับตัวลดลง 91%

สำหรับธุรกิจโรงแรม ผลการดำเนินงานของโรงแรมในต่างประเทศยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทั้งมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และโรงแรมที่ดูไบ มีอัตราการเข้าพักค่อนข้างสูง จากงาน World Expo ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565  ในขณะที่ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากผ่อนคลายมาตรการต่างๆในการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 197% อยู่ที่ 1,957 บาท โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (OCC) เพิ่มจาก 14% เป็น 35% ในไตรมาส 1/2565 และที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่ม 16% เทียบปีก่อน เป็น 5,660 บาท ธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวม 1,249 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2565 เพิ่มขึ้น 748 ล้านบาท หรือ 149% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับธุรกิจอาหาร การเติบโตของรายได้เนื่องจากปัจจัยบวกหลายประการ ได้แก่  รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ความกังวลจากการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงเนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนของประชากรเพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบการแพร่ระบาดสายพันธ์โอมิครอนไม่รุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดลต้าที่ผ่านมา กอปรกับบริษัทฯ ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายทั้งในช่องทางของการรับประทานที่ร้าน  การซื้อกลับบ้าน และการเดลิเวอรี่ รวมถึงมาตรการช็อปดีมีคืนของภาครัฐ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมยอดขายในไตรมาสนี้  โดยในไตรมาส 1 /2565 อัตราการเติบโตจากยอดขายสาขาเดิม (%SSS) เพิ่มขึ้นในอัตรา 10% เทียบปีก่อน  โดย เป็นการเพิ่มขึ้นของ 4 แบรนด์หลัก 9% และ แบรนด์อื่นๆ 15% และการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (%TSS) 15% เทียบปีก่อน บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจอาหารรวม 2,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 360  ล้านบาท (หรือเติบโตประมาณ 16% เทียบปีก่อน)

ในปี 2565 บริษัทฯจะรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีเป็นปีแรกจาก 2 โรงแรมใหม่ คือ 1) โรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย 184 ห้อง ระดับ Luxury แห่งแรกในเครือ 2) โรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท ดูไบ จำนวน 607 ห้อง เป็นกิจการร่วมค้า บริษัทฯ ถือหุ้น 40% และบริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากการลงทุนในแบรนด์ใหม่ใน ร้านอาหาร Shinkanzen Sushi และ Senma Sushi ปัจจุบันเปิดดำเนินการ 38 สาขา ซึ่งบริษัทฯ เข้าถือหุ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ในสัดส่วน 51%

ถึงแม้ว่าบริษัทฯ จะคาดการณ์ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะมีแนวโน้มที่ดี แต่บริษัทฯ ยังคงติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นเพื่อที่จะมั่นใจว่ามีการบริหารจัดการเรื่องการเงินอย่างเหมาะสม และมีกระแสเงินสดที่เพียงพอในทุกสถานการณ์ อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อัตราส่วนสภาพคล่องดีขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่ 0.7 เท่า และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น 0.9 เท่า ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเงื่อนไขกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 2.0 เท่า

แม้ยังคงมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการธุรกิจโรงแรม เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน นโยบายและมาตรการการควบคุมโรคโควิด-19 ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแรงกดดันต่อต้นทุนราคาวัตถุดิบและการขนส่งที่กระทบอัตราการทำกำไรของธุรกิจอาหาร อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามการผ่อนปรนมาตรการตามลำดับ อีกทั้งบริษัทฯ ก็มีการวางแผนในการเจรจาต่อรองกับผู้ขายอย่างต่อเนื่อง หาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติม รวมถึงมีการปรับราคาสินค้าเพื่อสะท้อนสภาวะการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ โดยบริษัทฯ ได้พยายามรักษาสมดุลเรื่องความคุ้มค่าของลูกค้าและผลกำไรของบริษัทฯอย่างเหมาะสม ในปี 2565 บริษัทฯ ประมาณการธุรกิจโรงแรมอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี (รวมโรงแรมที่ดูไบ) อยู่ในช่วง 40% - 50% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) อยู่ที่ 1,700 - 1,900 บาท และธุรกิจอาหาร อัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) 10% ถึง 15% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 20% ถึง 25% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทฯ คาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิ 180-200 สาขา

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 และปี 2566

(หน่วย: ล้านบาท)ไตรมาส 1/2565ไตรมาส 1/2564เปลี่ยนแปลง(เพิ่มขึ้น + / ลดลง -)
 จำนวนเงิน%จำนวนเงิน%จำนวนเงิน%
รายได้จากธุรกิจโรงแรม1,24932%50118%748149%
รายได้จากธุรกิจอาหาร2,63368%2,27382%36016%
              รวมรายได้3,882100%2,774100%1,10840%
ต้นทุนขาย - ธุรกิจโรงแรม(434)-11%(212)-8%222105%
ต้นทุนขาย - ธุรกิจอาหาร(1,114)-29%(928)-33%18620%
              รวมต้นทุนขาย(1)(1,548)-40%(1,140)-41%40836%
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร(1,383)-36%(1,139)-41%24421%
ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย00%(9)0%9100%
กำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA)95124%48618%46596%
ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(767)-20%(810)-29%(43)-5%
กำไร (ขาดทุน) ก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBIT)1845%(324)-12%508157%
ต้นทุนทางการเงิน(2)(172)-4%(165)-6%74%
รายได้ (ค่าใช้จ่าย) ภาษีเงินได้(35)-1%90%(44)-489%
(กำไร) ขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม(21)-1%50%(26)-520%
ขาดทุนสุทธิ(44)-1%(475)-17%43191%
  • ต้นทุนขายไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายส่วนที่ปันส่วนเป็นต้นทุนขาย
  • ต้นทุนทางการเงินที่ไม่รวมดอกเบี้ยจ่ายจากสัญญาเช่า มีจำนวนทั้งสิ้น 86 ล้านบาทในไตรมาส 1/2565 (ไตรมาส 1/2564: 66 ล้านบาท)

ข้อมูลบริษัท ณ ปัจจุบัน

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทฯมีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น จำนวน 89 โรงแรม (18,751 ห้อง) แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 47 โรงแรม (9,481 ห้อง) และเป็นโรงแรมที่กำลังพัฒนา 42 โรงแรม (9,270 ห้อง) ในส่วน 47 โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น 19 โรงแรม (5,050 ห้อง) เป็นโรงแรมที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของ และ 28 โรงแรม (4,431 ห้อง) เป็นโรงแรมที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหาร

สำหรับธุรกิจอาหาร CENTEL มีจำนวนร้านอาหารที่เปิดดำเนินการรวม 1,398 สาขา ดังนี้ 1.เคเอฟซี (304) 2.มิสเตอร์โดนัท (431) 3.โอโตยะ  (46) 4.อานตี้แอนส์ (196) 5.เปปเปอร์ลันช์ (48) 6.ชาบูตง ราเมน (16) 7.โคลด์สโตน ครีมเมอรี่ (16) 8.โยชิโนยะ (28)   9.เดอะ เทอเรส (7)  10.เทนยะ (13)  11.คัตสึยะ (50)  12.อร่อยดี (34) 13.อาริกาโตะ (133) 14.เกาลูน (1) 15.แกร๊บคิทเช่น บาย เอเวอรีฟู้ด (24) 16.สลัดแฟคทอรี (22) 17.บราวน์ คาเฟ่ (13) 18.คาเฟ่ อเมซอน - เวียดนาม (10) 19.ส้มตำนัว (6)


แท็ก เซ็นทารา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ