“เปิดเผยผลตรวจสารอินทรีย์ระเหยง่ายภาคประชาชน และภัยคุกคามด้านสุขภาพที่มาบตาพุด”

ข่าวทั่วไป Wednesday March 19, 2008 13:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--กรีนพีซ
กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมร่วมกับกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยผลการวิเคราะห์สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) จากตัวอย่างอากาศที่เก็บมาตรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2550 ว่า มีการตรวจพบสารก่อมะเร็งอย่างน้อยที่สุด 3 ตัวที่มีค่าสูงในบริเวณมาบตาพุด คือ Benzene, 1,3 Butadiene และ Ethylbenzene นอกจากนี้จากการติดตามปัญหา VOCs มาตั้งแต่ปี 2545 — 2550 พบว่าในบรรยากาศรอบพื้นที่มาบตาพุด มีการปนเปื้อนของ VOCs ที่ตรวจพบแล้วอย่างน้อยที่สุด 55 ตัว ในจำนวนนี้มี 45 ตัวที่มีอันตรายต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายถึง 20 จุด เช่น ตับ ไต หัวใจ ระบบประสาทส่วนกลาง และประสาท
ดร. อาภา หวังเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศจากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งได้ร่วมโครงการหน่วยกระป๋องตรวจมลพิษของกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมและกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึง ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศครั้งล่าสุดเมื่อปี 2550 ว่าได้ตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ Volatile Organic Compounds (VOCs) 20 ตัว ในจำนวนนี้มี 6 ตัวที่เกินค่าระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศของ US EPA จาก 6 ตัวดังกล่าว มี 3 ตัวที่เป็นสารก่อมะเร็งและพบในปริมาณที่ยังสูงอยู่ คือ 1) Benzene โดยครั้งนี้พบว่ามีค่าเกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศของ US EPA Region 6 ถึง 700 เท่า, 2) สาร 1,3 Butadiene มีค่าเกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศของ US EPA Region 6 ไป 265 เท่า และ 3) Ethylbenzene ตรวจพบแต่ไม่เกินค่าระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศฯ
นอกจากนี้ยังพบสารเมทิลเทอเทียรีบิวทิลอีเทอร์ (Methyl tert-Butyl Ether) ซึ่งมีผลทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูก และลำคอ มีค่าเกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศของ US EPA Region 6 ไป 232 เท่า ปัจจุบันประเทศอเมริกาได้ยกเลิกการใช้สารตัวนี้ไปแล้ว
ดร. อาภากล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ยังคงชี้ให้เห็นว่าอากาศในพื้นที่นี้มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่เป็นพิษต่อสุขภาพคนในพื้นที่มาบตาพุดปนเปื้อนอยู่ ถึงแม้ว่าตอนนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยการนำเสนอของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) มีการกำหนดมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ปี จำนวน 9 ชนิดแล้วก็ตาม ปัญหาคือ ตามประกาศฉบับนี้หมายความว่า เราจะรู้ว่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายมีค่าเกินมาตรฐานตามกำหนดหรือไม่ จะต้องทำการเก็บตัวอย่างเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้วเท่านั้น เท่ากับว่าชาวบ้านมาบตาพุดได้หายใจอากาศเข้าไปนานเป็นปี จึงจะรู้ได้ว่า อากาศที่หายใจมีสารอันตรายสูงเกินมาตรฐานตามกำหนดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คพ. กำลังจัดทำร่างมาตรฐานระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศของสารอินทรีย์ระเหยง่ายประมาณ 20 ตัว จึงอยากสนับสนุนให้เร่งประกาศออกมา เพื่อจะได้ใช้ควบคู่กับมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายฯ
นางสาววลัยพร มุขสุวรรณ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศมาบตาพุดตั้งแต่ปี 2545 - 2550 ทั้งโดยการใช้กระป๋องตรวจมลพิษของกลุ่ม และจากการประมวลรายชื่อสารที่ คพ. ตรวจไว้เมื่อปี 2548 พบว่า ในบรรยากาศของมาบตาพุดมีสารอินทรีย์ระเหยง่ายปนเปื้อนอยู่อย่างน้อยที่สุด 55 ตัว และจากการค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นโดยอ้างอิงจาก MSDS พบว่า ในจำนวนนี้มีสาร 45 ตัวที่มีอันตรายต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายคนถึง 19 จุด เช่น มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย 33 ตัวที่มีอันตรายต่อตับ, 30 ตัวมีผลต่อไต, 14 ตัวมีผลต่อการทำงานของหัวใจ, 25 ตัวเป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง และ 10 ตัวมีผลต่อประสาท ทั้งนี้พบว่าสารที่มุ่งโจมตีอวัยวะในร่างกายของคนมากที่สุด สารคลอโรเบนซีน โดยจะโจมตีไปยังระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไต ปอด ไขกระดูก อัณฑะ ต่อมไทมัส และม้าม รองลงมาคือ คาร์บอนไดซัลไฟด์ จะโจมตีไปที่หัวใจ ระบบหัวใจร่วมหลอดเลือด ตับ ไต ประสาท ตา และระบบสืบพันธุ์
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของสารอินทรีย์ระเหยง่ายกับอันตรายที่จะเกิดกับร่างกายคนอย่างง่าย ๆ ในความเป็นจริงนั้น การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของสารเคมีมีข้อจำกัดหลายอย่าง เนื่องจากว่ามนุษย์ รวมถึงพืชและสัตว์มีความทนทานหรือมีปฏิกิริยาต่อสารต่าง ๆ แตกต่างกัน ขณะเดียวกันสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของสารนั้น ๆ ต่างกันด้วย ปกติแล้ว เราจะบอกได้ว่าสารตัวไหนมีอันตรายอย่างไรกับคนด้วยการทดลองกับสัตว์ในห้องทดลอง โดยทั่วไปมักใช้หนูเป็นสัตว์ทดลองและจะทำการทดลองกับสารเป็นรายตัว มีการควบคุมระยะเวลาที่แน่ชัด ดังนั้นการเอาผลทดลองจากสัตว์ที่ทำในระยะสั้นมาเปรียบเทียบใช้กับคนที่ได้รับสารพร้อมกันหลายตัวและได้รับเป็นระยะเวลายาวนาน เช่น ชาวบ้านมาบตาพุด ที่ต้องสูดอากาศปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่ายนานเป็นสิบปีแล้ว จึงเป็นการประมาณการณ์อันตรายต่อสุขภาพที่มีความไม่แน่นอนสูง
ปัจจุบัน เรายังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่า การได้รับสารอินทรีย์ระเหยง่ายผสมกันหลายตัวพร้อมกันแบบค็อกเทล จะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ประการสำคัญคือ ในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังมีข้อมูลน้อยมากที่จะบอกได้ว่าสารแต่ตัวเมื่อเข้าสู่ร่างกายมีกลไกการเกิดพิษอย่างไร นางสาววลัยพรย้ำว่า นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงและเป็นปัญหาใหญ่ของผลกระทบจากมลพิษอากาศต่อสุขภาพของชาวบ้านที่มาบตาพุด
ด้านนายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศของเราครั้งล่าสุดนี้เป็นการยืนยันว่าสถานการณ์ปัญหามลพิษที่มาบตาพุดยังไม่ดีขึ้นเหมือนเมื่อสิบปีที่ผ่านมา แม้รัฐบาลอ้างว่าได้ดำเนินแผนการลดมลพิษแล้วก็ตาม ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะจัดการปัญหาให้ถูกต้องจริงก็ควรดำเนินมาตรการให้สอดคล้องกับผลการตรวจสอบของภาคประชาชนด้วย ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกที่ตั้งหน่วยกระป๋องตรวจมลพิษขึ้นมาเพื่อสอดส่องการปล่อยมลพิษของโรงงานต่าง ๆ เพื่อกดดันให้โรงงานและรัฐต้องแก้ไขปัญหาและมีความรับผิดชอบต่อมลพิษที่ตนก่อขึ้น ทำให้ปัญหามลพิษอากาศลดน้อยลงไปมาก
ทั้งนี้นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระป๋องตรวจมลพิษเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการรับรองจาก US EPA สำหรับใช้ตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะสารอินทรีย์ระเหยง่าย ที่ชุมชนสามารถใช้เป็นเครื่องมือเฝ้าระวังคุณภาพอากาศได้และติดตามการปล่อยมลพิษของโรงงานอย่างได้ผล หากรัฐบาลมีธรรมาภิบาลที่ดีและมีความจริงจังที่ต้องการให้ชาวบ้านมาบตาพุดมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศจริง รัฐบาลควรสนับสนุนการตั้งหน่วยกระป๋องตรวจมลพิษโดยชาวบ้านมาบตาพุด ขึ้นมาทำงานคู่ขนานไปกับการติดตามตรวจสอบสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ คพ. และ กนอ. ทำอยู่ เพื่อให้ชาวบ้านมีบทบาทตรวจสอบการทำงานของภาครัฐอย่างแท้จริง
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โทร 089-476-9977
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 02-357-1921 ต่อ 115 หรือ 089-487-0678

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ