บีโอไอ ยืนยันใช้เกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระดับสูง เน้นบรรษัทภิบาล-การอยู่ร่วมกับชุมชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ

ข่าวทั่วไป Wednesday March 19, 2008 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--บีโอไอ
บีโอไอ ระบุนโยบายส่งเสริมการลงทุนเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูง ใช้เกณฑ์มาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับสูง พร้อมบรรษัทภิบาลที่ดี หวังสร้างความเข้มแข็ง และขีดความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ชี้พร้อมรับฟังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังจากการที่ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านการให้การสนับสนุนโครงการผลิตเหล็กของสหวิริยา ว่า โครงการผลิตเหล็กของสหวิริยานั้น มีหลายโครงการ ส่วนโครงการเหล็กต้นน้ำ ที่บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนนั้น ได้สิ้นสุดสถานะภาพการให้ส่งเสริมไปแล้ว หากบริษัทจะดำเนินการต่อ จะต้องมาขอรับส่งเสริมการลงทุนใหม่
ส่วนการที่บีโอไอได้ประกาศ แนวทางส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กขั้นต้น เพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูง ไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2550 นั้น จะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กคุณภาพสูงและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจากการประเมินคาดว่า ปริมาณความต้องการเหล็กในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณความต้องการในปัจจุบัน ที่ 12.5 ล้านตัน เป็น 25 ล้านตัน ในระยะ 10 ปีข้างหน้า
ดังนั้น หากมีการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นในประเทศ ไม่เพียงทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเท่านั้น ยังจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกเหล็กของภูมิภาคด้วย
ทั้งนี้แนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำของบีโอไอ ได้มีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อย่างชัดเจน ตั้งแต่เทคโนโลยีในการผลิต การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งเงื่อนไขด้านการควบคุมและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานสูง ระดับสากล รวมทั้งบริษัทที่จะดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะต้องมีระบบบรรษัทภิบาลที่ดีและมีแผนงานที่แสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่นและสังคมด้วย
ดังนั้น ผู้ลงทุนจะต้องบริษัทฯจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน สำหรับประเด็นปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ที่สะท้อนว่าการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บ้านเกิดนั้น เป็นกรณีเฉพาะที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมกันศึกษาและหาทางแก้ไข ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน จะต้องร่วมกันป้องกันและหาแนวทางแก้ไขตลอดจนสร้างความเข้าใจต่อชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งต่อไป
เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน บีโอไอ มีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการตระหนักและดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการที่ ลงทุนรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่ม ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ในปัจจุบัน
“มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเพิ่มเติม จากปกติที่บีโอไอได้กำหนดไว้ว่า โครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน หากมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งต้องควบคุมกระบวนการผลิตไม่ให้มีผลกระทบด้านมลภาวะเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด เชื่อว่าหากผู้ประกอบการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ แล้วจะทำให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้แน่นอน” เลขาธิการกล่าว
สำหรับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กขั้นต้นเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูง ประกอบด้วย 1.เป็นโครงการผลิตเหล็กขั้นต้นเพื่อผลิตคุณภาพสูงที่มีเทคโนโลยีทันสมัยในทุกขั้นตอนการผลิต โดยจะต้องผลิตเหล็กคุณภาพสูงที่มีความบริสุทธิ์สูง มีธาตุมลทินต่ำ มีสิ่งเจือปนต่ำ และต้องมีปริมาณการผลิตเหล็กคุณภาพสูงไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านตัน 2.ต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสามารถพัฒนางานวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหรือหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษาเพื่อยกระดับการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต 3.ต้องมีระบบควบคุมและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และ 4. เป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลและเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) และต้องเสนอแผนงานที่แสดงความรับผิดชอบต่อชุมชน ท้องถิ่น และสังคม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ