TBCSD รวมพลังการขับเคลื่อนองค์กร สู่ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business)

ข่าวทั่วไป Tuesday June 14, 2022 17:20 —ThaiPR.net

TBCSD รวมพลังการขับเคลื่อนองค์กร สู่ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business)

องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้จัดงาน TBCSD Climate Action "ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business)" # Season 1: กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม ขึ้น โดยเป็นการจัดงานผ่านระบบออนไลน์ Zoom และ ผ่านทาง Facebook Live เพจของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ เพจขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึง บทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม (Country Issue) และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business) อันเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตอบสนองนโยบายตามเป้าหมายของประเทศไทยและมุ่งสู่ความยั่งยืน

โดยงาน TBCSD Climate Action "ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business)" มีกำหนดจัดงานทั้งหมดจำนวน 6 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน 2565 ตามประเภท กลุ่มอุตสาหกรรมอันครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ถือว่าเป็นการจัดงานในครั้งที่ 1 ประเภท กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม

โดยงานในวันนี้มี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เป็นประธานกล่าวเปิดงานและกล่าวว่า "ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศ ได้แก่ วาระแห่งชาติ BCG และการมุ่งไปสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero Emission หรือ Carbon Neutrality ในอนาคต นับได้ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทั้งในระดับประเทศระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เป็นเครือข่ายธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศได้มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมขับเคลื่อนแก้ไขประเด็น Climate Change อย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พร้อมทั้ง ได้ร่วมหารือกับกลุ่มองค์กรสมาชิก TBCSD ซึ่งเป็นองค์กรภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจำนวนกว่า 43 องค์กร อันครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เพื่อกำหนด Climate Action ให้ชัดเจน โดยการกำหนดเป้าหมาย มาตรการและกรอบกิจกรรมที่ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรสู่ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business) พร้อมทั้ง การสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขยายผลและผลักดันระดับนโยบายของประเทศ อันเป็นการแสดงออกถึงพลังจากการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำและสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต"

ภายในงานได้รับเกียรติจาก คุณธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง Global Climate Action & Thailand Climate Action: Climate Adaptation and Resilience กล่าวว่า "สผ. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ได้จัดทำนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญทั้งมิติด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ที่กำหนดเป้าหมายภายใต้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Long-term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategies : LT-LEDS) เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และมิติด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง มิติด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดโครงสร้าง เครื่องมือและกลไกที่สำคัญ อาทิ การจัดทำ (ร่าง) พรบ. CC จัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เป็นต้น เพื่อสนับสนุนและยกระดับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทาย"

นอกจากนี้ ได้รับเกียรติจากผู้แทนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่ง TGO เป็นหนึ่งในองค์กรพันธมิตรของ TBCSD มาร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง ความสำคัญการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน และแนวทางการกำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets) โดย คุณนพรัตน์ พรหมอินทร์ ผู้จัดการ สำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในระดับโลก ซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงและเร่งด่วนต่อการดำเนินงานทางธุรกิจ โดยธุรกิจสามารถรับมือกับความท้าทายและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งเรื่องทางกายภาพ และ กฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ (Physical Risk และ Regulatory Risk) ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ดี นำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่คาร์บอนต่ำและยั่งยืนที่สามารถสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงทางธุรกิจ และส่งเสริมการส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยรวมถึงประชาคมโลก ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยแนวทางการกำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets) จะเป็นเครื่องมือนวัตกรรมที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายตามบริบทสากล ตอบโจทย์เรื่องการรายงาน การเปิดเผยข้อมูล และสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางและกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้เป็นอย่างดี"

และในช่วงการเสวนา เรื่อง  หัวข้อ "การยกระดับมาตรฐานขององค์กรธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต" ได้รับเกียรติจากผู้บริหารทั้งจากสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และสมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ที่อยู่ภายใต้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม มาร่วมเป็นวิทยากรเพื่อร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต อันเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้

 

ดร.วันเฉลิม ชโลธร ประธานคณะทำงาน TCMA on Sustainability สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า "การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ TCMA ซึ่งเป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายของไทย ที่มุ่งมั่นเดินหน้าดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและทวีความเข้มข้นมาเป็นลำดับ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ตัวอย่างเช่น ในระยะสั้นนี้ ขับเคลื่อน 'MISSION 2023' เร่งนำปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) เข้าสู่การใช้งานก่อสร้างทุกประเภทแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์โดยเร็ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้อีกอย่างน้อย 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี ค.ศ. 2023 (เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 122 ล้านต้น) จากนั้นก็เดินหน้ายกเลิกการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในต้นปี ค.ศ. 2024

นอกจากนี้ ยังเป็นอุตสาหกรรมแรกของไทยที่จัดทำ Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050 มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางในระดับโลก และได้รับการตอบรับสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก Global Cement and Concrete Association (GCCA) องค์กรชั้นนำระดับโลกด้านซีเมนต์และคอนกรีต ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายที่ TCMA มุ่งมั่นดำเนินการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศให้สำเร็จตามเป้าหมาย อันจะเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว"

คุณสมสกุล แสงสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้า ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนธุรกิจสู่กระบวนการ Low Carbon คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการพัฒนาองค์กรไปสู่เป้าหมายอย่างยั่งยืนภายใต้หลักบรรษัทภิบาล ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาโครงการ ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการคิด การติดต่อ ลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง การดำเนินงานก่อสร้างโครงการ โดยเป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกแบบอาคารที่ลดการใช้พลังงาน โดยพึ่งพาแสงและลมจากธรรมชาติให้มากที่สุด การเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในโครงการ รวมทั้งการเก็บรักษาต้นไม้เดิมในแต่ละพื้นที่ให้คงอยู่ เป็นพื้นที่สีเขียวยั่งยืน เพิ่มความใกล้ชิดในการอยู่อาศัยกับธรรมชาติ รวมถึงเลือกใช้วัสดุทดแทน เพื่อมิให้เกิดการทำลายธรรมชาติมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งวัสดุที่ใช้จะเป็นส่วนที่ช่วยในด้านการลดการใช้พลังงาน เพื่อส่งเสริมการประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนให้กับตัวอาคารนอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดในโครงการบ้านจัดสรร "แกรนด์ บริทาเนีย" ด้วยการติดตั้งโซลาร์รูฟ เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางของโครงการ สร้างคุณค่าและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้อยู่อาศัยในระยะยาว นำไปสู่การเป็น Zero-Carbon ecosystem ผ่านมิติของพลังงานที่สร้างความยั่งยืนในการอยู่อาศัยให้เกิดขึ้นได้จริง"

คุณชนะ ภูมี Cement and Green Solution Business, Vice President - Cement & Building Material, SCG กล่าวว่า "วิกฤติโลกร้อน เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตของผู้คนและการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น SCG จึงใช้แนวทาง ESG 4plus คือ 1.มุ่ง Net Zero 2.Go Green 3.Lean เหลื่อมล้ำ และ 4. ย้ำร่วมมือโดยยึดหลักความเป็นธรรมโปร่งใส มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ

การไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้นั้น นวัตกรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ SCG จึงได้พัฒนานวัตกรรมโดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างมีนวัตกรรมการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม CPAC Green Construction เป็นต้น นอกจากนี้ เป้าหมาย Net Zero จะสำเร็จได้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและมี Transition ที่สำคัญประกอบด้วย Product, Process, Market และ Policy Transition การไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเป็นเรื่องระยะยาว ภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้น นโยบาย แผนงานจึงต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง"

คุณธนสิษฐ์ สุจริตจันทร์ South East Asia Business Excellence Director องค์กร กลุ่มบริษัท แซง-โกแบ็ง ประเทศไทย กล่าวว่า "การยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ความยั่งยืนโดยการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment)นำเสนอวิธีการประเมินเชิงปริมาณของการใช้ทรัพยากร มลพิษที่เกิดขึ้นและผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการผลิต ผลิตภัณฑ์และบริการ โดยพิจารณาตลอดวัฎจักรชีวิต ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการนำไปกำจัด โดยตัวอย่างจากการใช้งานจริงของ แซง-โกแบ็ง ประเทศไทย ตลอดจนประโยชน์ และแนวทางในการใช้มาตรฐานการชี้วัดนี้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ภาคการก่อสร้างของประเทศไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล"

คุณบุปผา กวินวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนเป้าหมายหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตจำนงต่อภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy ยกระดับมาตรฐานการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง การมีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรการหรือสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และโรงงานอัจฉริยะเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนต่อไป"

และท้ายสุดหลังจากจบงานในครั้งนี้ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จะดำเนินการสรุปผลข้อมูลภาพรวมของงานฯ เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต เพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเด็น Climate Change เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศไทยที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ขออนุญาตประชาสัมพันธ์กำหนดการจัดงาน TBCSD Climate Action "ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business)" # Season 2: กลุ่มธุรกิจการเงิน และ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ในวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30 - 16.30 น. และกลับมาพบกันอีกครั้งในการจัดงาน # Season 2 ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

ท่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลประเด็นสำคัญในการนำเสนอของวิทยากรแต่ละท่านภายในงานฯ ได้โดยการ Scan QR Code ด้านล่างนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ