นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ชนะเลิศ "การประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาฯ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 3 ประจำปี 2563"

ข่าวทั่วไป Monday July 11, 2022 09:17 —ThaiPR.net

นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ชนะเลิศ

นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ "การประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2563" ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายงานผ่านภาษา "ตามรอยพระยุคลบาท ช่วยชาติได้อย่างไร" จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีการจัดการประกวดรอบชิงชนะเลิศในหัวข้อ "ภัยพิบัติขจัดปัดเป่าด้วยพระมหากรุณาธิคุณ" เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ

นายณัฐวุฒิ จันทะลุน นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ เปิดเผยว่า การประกวดสุนทรพจน์แบ่งออกเป็นการแข่งขันทั้งหมด 3 รอบ ตนได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประกวดรอบคัดเลือกตัวแทนกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2563 ซึ่งการประกวดต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จึงได้จัดการประกวดสุนทรพจน์ระดับภูมิภาค และรอบชิงชนะเลิศในปีนี้ โดยแต่ละรอบประกอบด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ 2 หัวข้อ โดยรอบแรกจะกำหนดหัวข้อมาให้ เราสามารถเตรียมตัว เขียนบท ฝึกซ้อมมาได้ และรอบสุดท้ายเราจะรู้หัวข้อล่วงหน้าเพียงไม่กี่นาที ซึ่งการตัดสินจะมาจากคะแนนทั้งสองหัวข้อรวมกัน

ณัฐวุฒิ เป็นนิสิตคณะครุศาสตร์เอกภาษาไทย ซึ่งมีความสนใจเรื่องทักษะการพูด ที่ผ่านมาเคยเป็นนักโต้วาทีของคณะ และทำหน้าที่เป็นพิธีกรของจุฬาฯ ภาคพิธีการ (MC of Chula รุ่นที่ 5) แต่ยังไม่เคยประกวดสุนทรพจน์มาก่อน ซึ่งการพูดสุนทรพจน์มีความแตกต่างจากการโต้วาทีและพิธีกร จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและคิดว่าจะนำประสบการณ์ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนในอนาคตได้

"เนื้อหาในสุนทรพจน์ที่ผมพูดในรอบชิงชนะเลิศเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจช่วยประเทศไทยผ่านภัยพิบัติ โดยเสนอแนวทางว่าคนไทยควรจะประพฤติตนอย่างไรที่จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการรู้รักสามัคคี รู้วิธีการแก้ไขปัญหา และรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในยามวิกฤติ ส่วนในรอบที่สอง เป็นการพูดในหัวข้อ "ให้ความรู้มีค่ามากกว่าให้ทรัพย์สินเงินทอง" ผมได้กล่าวถึงความสำคัญของความรู้ ซึ่งสามารถส่งต่อความรู้ถึงคนอื่นๆ ได้ เช่น สร้างห้องสมุด และสนับสนุนทรัพยากรด้านการศึกษา" ณัฐวุฒิกล่าว

ณัฐวุฒิ ฝากถึงผู้ที่สนใจการประกวดสุนทรพจน์ว่า "สิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการประกวดสุนทรพจน์คือการเตรียมตัวที่ดี การหาข้อมูลจากหัวข้อที่กำหนดมา และต้องมีความรู้ที่กว้างขวางจากหัวข้อที่ไม่รู้มาก่อนด้วย สิ่งสำคัญคือการฝึกซ้อมให้ตรงตามเวลาที่กำหนด ยิ่งซ้อมเยอะจะยิ่งคล่องแคล่วมากขึ้น ลดความผิดพลาด ลดความตื่นเต้นได้"

นายชยุตม์ มุทุวงศ์ นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดสุนทรพจน์ครั้งนี้ เปิดเผยว่า การประกวดรายการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศได้ฝึกการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องผ่านการแสดงสุนทรพจน์ รวมทั้งเป็นการศึกษาและเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทั้ง 10 รัชกาล

ชยุตม์ กล่าวถึงการเตรียมตัวเข้าร่วมการประกวดสุนทรพจน์ว่า สิ่งที่ทำอย่างแรกคือ ย้อนดูคลิปวิดิโอการประกวดเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า เพื่อให้เห็นตัวอย่างและแนวทางในการพูด จากนั้นได้ศึกษา ตีความหัวข้อ เริ่มเขียนคำกล่าวสุนทรพจน์และฝึกพูด การแข่งขันที่ผ่านมาได้นำประสบการณ์จากการประกวดในรอบต่างๆ ที่ผ่านมากลับมาทบทวนปรับปรุงจากข้อแนะนำของคณะกรรมการ เพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาให้มากขึ้น ระมัดระวังเรื่องไวยากรณ์ การใช้คำราชาศัพท์ และการใช้ภาษาให้สละสลวยยิ่งขึ้น

สำหรับหัวข้อ "ภัยพิบัติขจัดปัดเป่าด้วยพระมหากรุณาธิคุณ" ที่กล่าวสุนทรพจน์ในรอบชิงชนะเลิศ ชยุตม์ กล่าวว่า ต้องเริ่มจากการตีความว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีอะไรบ้าง แล้วภัยพิบัติบรรเทาลงได้อย่างไร มีการแก้ปัญหาอย่างไร และเรามีการถอดบทเรียนเพื่อการแก้ปัญหาอย่างไร จากนั้นจึงนำเสนอถึงพระมหากรุณาธิคุณ และแนะแนวทางตามแนวพระยุคลบาทว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาภัยบิบัติได้อย่างไร ในการแข่งขันพยายามควบคุมการตื่นเต้นให้ดีที่สุด หลังจากได้รางวัลแล้วรู้สึกหายเหนื่อยและภาคภูมิใจกับการทุ่มเทตั้งใจกับการประกวดสุนทรพจน์ทั้ง 3 รอบอย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นเวทีการประกวดครั้งสุดท้ายเนื่องจากใกล้สำเร็จการศึกษาแล้ว

"เวทีการประกวดสุนทรพจน์ ทำให้ได้ฝึกการพูด ฝึกเทคนิคการใช้ภาษา การเรียบเรียงเรื่องราว การควบคุมอารมณ์ ความตื่นเต้น และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทักษะสำคัญที่ได้มาจากเวทีนี้ อยากเชิญชวนนิสิตที่มีความสนใจในด้านนี้ลองสมัครเข้าประกวด อาจจะเริ่มจากในเวทีมหาวิทยาลัยก่อน ซึ่งในทุกเวทีจะให้บทเรียนและประสบการณ์เกี่ยวกับการแสดงสุนทรพจน์ให้เรามีพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อไป" ชยุตม์ ฝากทิ้งท้าย

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ