กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--ไทยธนาคาร สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เผยแพร่บทวิเคราะห์แสดงความเห็นว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee : MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 9 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ทางเลือกในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินผ่านตัวแปรเครื่องมือ คือ อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักหรือการเปรียบเทียบระหว่างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้คาดว่าที่ประชุมฯจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน จาก 2.25% เป็น 2.50% โดยมีเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว ตลอดจนเพื่อรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ธปท.ให้น้ำหนักเอนเอียงไปทางด้านเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะยังยืนอยู่ที่ระดับ 2.25% ต่อไป ในขณะที่มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee : FOMC) ที่จะมีขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 29 — 30 มิถุนายน 2548 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มจาก 3.00% สู่ระดับ 3.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน ซึ่งเป็นการประชุมก่อนการประชุมเฟดนั้น ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร มองว่า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความยากลำบากมากขึ้น ทั้งการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวในระดับที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีแนวโน้มที่จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. อีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.50% เพราะเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวกำลังประสบปัญหา ได้แก่ 1) อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ จาก 2.5% ในเดือนก.พ.มาอยู่ที่ 3.7% ในเดือน พ.ค. ตามแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ผันผวนและทรงตัวอยู่ในระดับสูง ราคาสินค้าเกษตรที่ขยับสูงขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนการปรับขึ้นราคาสินค้าและค่าขนส่งสาธารณะ 2) อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate of Interest) ในปัจจุบันที่มีแนวโน้มติดลบมากขึ้นจากการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ไม่จูงใจให้เกิดการออม รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ของภาคครัวเรือน ซึ่งภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน ณ สิ้นปี 2547 อยู่ที่ 104,571 บาท เมื่อเทียบกับ ปี 2545 ที่มีจำนวน 82,485 บาท และ 3) ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯและไทย ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% ถ้าหากคณะกรรมการฯไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายเดือนมิ.ย.แล้ว ส่วนต่างดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 1.00% ประกอบกับดอลลาร์สหรัฐฯแข็งตัวขึ้นในระยะสั้นย่อมส่งผลต่อการไหลออกของเงินทุนระยะสั้น ขณะที่การแสดงความเห็นล่าสุดของ อลัน กรีนสแปนว่า เงินหยวนจะมีการปรับค่าเร็วๆนี้จะไม่ส่งผลต่อค่าเงินบาทหรือค่าเงินสกุลเอเชีย และไม่มีผลกดดันต่อจีนแต่อย่างใดเพราะทางการจีนแสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่า หากจะมีการดำเนินการปรับค่าเงินจะต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ก่อน ดร. อนุสรณ์ วิเคราะห์ว่า หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ จะแสดงถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และเป็นการส่งสัญญาณให้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุน ตลอดจนช่วยส่งเสริมการออมในระบบให้เพิ่มสูงขึ้นรองรับการเพิ่มขึ้นของการลงทุน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ อย่างไรก็ตาม สามารถประเมินว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันที่คณะกรรมการฯอาจจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อไปเช่นการประชุมในรอบที่ผ่านมา หากคณะกรรมการฯ ให้น้ำหนักกับความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้มีอัตราการขยายตัวเพียง 3.3% ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก ขณะที่ในสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน เช่น ราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง สถานการณ์ความไม่สงบในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงยืดเยื้อ และสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ยังไม่อยู่ในภาวะปกติ ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทั้งนี้ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ย Fed Funds เริ่มขยับเข้าสู่ระดับกลางหรือระดับ 3.50%-4.00% หากคณะกรรมการฯมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% เช่นเดิมแล้ว จะสนับสนุนให้มีเงินทุนระยะสั้นไหลออก ในระยะสั้นเงินบาทของไทยจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง และทำให้ราคาสินค้านำเข้าขยับตัวสูงขึ้นจนเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปอีก ทางด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น คุณประธาน จิวจินดา เจ้าหน้าที่วิจัยเศรษฐกิจอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร คาดว่า หากธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน จาก 2.25% เป็น 2.50% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 9 มิ.ย. จะยังไม่ส่งผลให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในทันที เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินที่ยังเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับทรัพยากรส่วนเกินหรืออัตราการใช้กำลังการผลิต แม้จะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ก็ยังถูกใช้ไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. และสภาวะสภาพคล่องในระบบที่ค่อย ๆ ทยอยลดลงในระยะต่อไป จากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ การขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ การเคลื่อนย้ายเงินฝากสู่ตลาดทุนหลังการแปรรูปรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นบริษัทมหาชน การขับเคลื่อนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ภาครัฐ (เมกะโปรเจ็กต์) ที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงครึ่งปีหลัง ตลอดจนการออกพันธบัตรของธปท.เพื่อดูดซับสภาพคล่อง จะทำให้อัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวขึ้นตามในที่สุด แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นจะยังคงมีแนวโน้มทรงตัวก็ตาม สำหรับการคาดการณ์ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee : FOMC) ที่จะมีขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 29 — 30 มิถุนายน 2548 สำนักวิจัย มีความเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มจาก 3.00% สู่ระดับ 3.25% เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง เพียงพอที่จะรองรับนโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยเฉพาะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ ในไตรมาสแรกของปี 2548 ที่ขยายตัวในอัตรา 3.5% สูงกว่าตัวเลขประมาณการที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.1% อันเป็นผลมาจากยอดขาดดุลการค้าในเดือนมี.ค.ที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งแม้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในเดือน พ.ค. จะเพิ่มขึ้นเพียง 78,000 ตำแหน่ง แต่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด สำนักวิจัย ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากปัจจัยตัวเลขเศรษฐกิจจะมีผลต่อการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds แล้ว สุนทรพจน์ของนายอลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวาระต่างๆ ยังสะท้อนถึงความมั่นใจที่มีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้ ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พ.ค.นายอลัน กรีนสแปน ได้กล่าวสุนทรพจน์กับชมรมเศรษฐศาสตร์ประจำกรุงนิวยอร์ค ว่า “ เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มจะรับมือกับภาวะราคาน้ำมันแพงได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดจากราคาน้ำมันแพงในขณะนี้ มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ” อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะพิจารณาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯอีกครั้ง โดยเฉพาะตัวเลขอัตราเงินเฟ้อประจำเดือน พ.ค. ว่าจะเอื้ออำนวยต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds หรือไม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา แม้ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวมากนักและอยู่ในทิศทางที่สามารถควบคุมได้ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline Inflation) ในเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 0.5% จาก 0.6% ในเดือนมี.ค. และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core Inflation) เพิ่มขึ้น 0.2%จาก 0.4% ในเดือนมี.ค. จึงอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่รุนแรง ในการประชุม FOMC ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. นี้ ตารางที่ 1 ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท.ในรอบ 6 ครั้งที่ผ่านมา วันที่ประชุม มติที่ประชุม เหตุผล 25 ส.ค.2547 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% แรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น 20 ต.ค.2547 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 1. 75% เศรษฐกิจขยายตัวดี แต่เงินเฟ้อสูงขึ้น 15 ธ.ค.2547 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.00% รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจต่อเนื่อง 19 ม.ค.2548 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% รอดูผล “สึนามิ” ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย 2 มี.ค.2548 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% น้ำมันแพง แรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น 20 เม.ย.2548 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ห่วงเศรษฐกิจชะลอจากหลายปัจจัยรุม ตารางที่ 2 ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในรอบ 8 ครั้งที่ผ่านมา วันที่ประชุม มติที่ประชุม เหตุผล 29-30 มิ.ย.2547 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 10 ส.ค.2547 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% เศรษฐกิจขยายตัวดี เงินเฟ้อควบคุมได้ 21 ก.ย.2547 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง 10 พ.ย.2547 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.00% เน้นเป้าหมายเสถียรภาพเศรษฐกิจ 14 ธ.ค.2547 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจต่อเนื่อง 1-2 ก.พ.2548 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.50% เศรษฐกิจแกร่งพอรองรับดอกเบี้ยสูง 22 มี.ค.2548 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.75% เศรษฐกิจขยายตัวดี เงินเฟ้อควบคุมได้ 3 พ.ค.2548 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 3.00% แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังจัดการได้ ที่มา : รวบรวมโดยสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)--จบ--