?"หูตึง" เสี่ยงสมองเสื่อมได้จริงหรือ?

ข่าวทั่วไป Tuesday August 30, 2022 09:47 —ThaiPR.net

?

อาการหูตึงมักจะค่อยๆ เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว บางคนไม่ทันได้สังเกตพอรู้ตัวอีกทีก็รู้สึกว่าตัวเองฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ต้องให้คนอื่นพูดซ้ำๆ และพูดเสียงดังๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่ภาวะนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย

ปัญหาการได้ยินหรืออาการหูตึงนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้มากที่สุดคือประสาทหูเสื่อมตามวัย นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การอักเสบของหูชั้นใน โรคเนื้องอกประสาทหู หูถูกทำลายจากยาหรือสารเคมี หรือจากการได้รับเสียงดังเกินขีดมาตรฐาน

และผู้ที่มีภาวะหูตึงหากปล่อยไว้นานๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้ง่าย เนื่องจากสมองไม่ได้รับการกระตุ้นด้วยเสียงที่ผ่านเข้ามา ซึ่งผลการศึกษาพบว่าในผู้ที่สูญเสียการได้ยิน เมื่อเทียบกับคนที่ได้ยินปกติ พบว่ามีอัตราการเสื่อมของสมองเร็วกว่า 30-40% เนื่องจากต้องใช้ความพยายามในการตั้งใจฟัง ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานสมอง สมองต้องทำงานหนักเพื่อดึงความจำระยะยาวมาใช้เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่ฟัง

นอกจากการสูญเสียการได้ยินจะทำให้สมองเสื่อมถอยจนอาจนำไปสู่โรคความจำเสื่อมแล้ว ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะสื่อสารกับคนอื่นลำบาก ทำให้ไม่อยากเข้าสังคม รู้สึกโดดเดี่ยว และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ แล้วก็ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพราะไม่ได้ยินเสียง

วิธีสังเกตอาการง่ายๆ ในผู้ที่มีอาการหูตึงเวลาพูดด้วยจะไม่มีการตอบสนอง จนต้องถามซ้ำหรือฟังความหมายผิดเพี้ยนไป หรือเวลาพูดอาจพูดด้วยเสียงที่ดังมากกว่าปกติ เนื่องจากไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง จึงต้องพูดเสียงดัง ซึ่งหากสงสัยว่าคุณเองหรือคนใกล้ตัวกำลังมีอาการหูตึงอยู่หรือเปล่า แนะนำว่าคุณควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการได้ยินเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา อย่าปล่อยไว้ เพราะจะเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

** จากสถิติ 1ใน 6 ของผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปพบว่าจะเริ่มมีภาวะสูญเสียการได้ยิน ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรองการได้ยินทุกปี หากพบว่าการได้ยินผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินแต่เนินๆเพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียการได้ยินเพิ่มขึ้น ช่วยให้การสื่อสาร การเข้าสังคมของผู้ป่วยดีขึ้น และป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคสมองเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ด้วย..


แท็ก สมอง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ