"มือ เท้า ปาก" โรคที่ติดต่อง่ายในเด็กเล็ก... มีวัคซีนป้องกันแล้ว

ข่าวทั่วไป Wednesday September 14, 2022 10:17 —ThaiPR.net

"มือ เท้า ปาก" โรคที่ติดต่อง่ายในเด็กเล็ก... มีวัคซีนป้องกันแล้ว

มือเท้าปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ทำให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว เป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย

*สาเหตุและการติดต่อโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (มีมากกว่า 100 สายพันธุ์) โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบบ่อย คือคอกซากีไวรัส เอ16 (Coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต

สามารถติดต่อกันได้ด้วยการรับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม ใส่กันโดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล และมักระบาดมากในช่วงฤดูฝน

*อาการของโรคมือเท้าปากและภาวะแทรกซ้อน

อาการเริ่มต้นของโรคมือเท้าปากจะคล้ายไข้หวัดจากนั้น 1-2 วัน จะพบแผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น ริมฝีปาก ทำให้เจ็บกินได้น้อยอ่อนเพลีย ต่อมาจะมีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ข้อศอก รอบก้น และมักจะหายได้ภายใน 7- 10 วัน

ในรายที่อาการรุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แม้ว่าผื่นและแผลในปากจะหายไปแล้วก็ตาม โดยสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที ได้แก่

  • เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่ทานอาหารหรือนม
  • อาเจียน บ่นปวดหัวมาก
  • กระสับกระส่าย หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ
  • ไอมีเสมหะมาก ดูเหนื่อยๆ หน้าซีด
  • ตัวเย็น ชัก

*การวินิจฉัยและรักษาโรคมือ เท้า ปาก

โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการและอาการแสดง แต่ถ้ามีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจจะต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน เช่น การส่งตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่ง หรืออุจจาระเพื่อหาเชื้อไวรัส ด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) หรือการเพาะเชื้อไวรัส (Virus Culture) ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนี้ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

เนื่องจากโรคมือเท้าปากยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ จึงเป็นการรักษาทั่วไปตามอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น เช่น หากเจ็บคอมาก ทานอะไรไม่ได้ เพลียมากอาจให้นอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก และคอยเฝ้าระวังสังเกตอาการภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

  • โรคมือ เท้า ปาก มีวัคซีนป้องกันแล้ว...

โรงพยาบาลรามคำแหงมีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - 5 ปี ฉีด 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากวัคซีนเข็มแรก 1 เดือนสำหรับเด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก แล้ว สามารถฉีดได้แต่จะต้องหายจากโรคก่อนและต้องเว้นระยะห่างประมาณ 1 เดือน หรือหากมีโรคประจำตัว ทานยา หรือแพ้ยา ควรปรึกษากุมารแพทย์ วัคซีนโรคมือ เท้า ปาก มีให้บริการที่แผนกเด็กสุขภาพดี อาคาร 3 ชั้น 2 สอบถามข้อมูลเพิ่มโทร. 0 2743 9999 ต่อ 3240-3244


แท็ก ทารก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ