EmpowerME แชทบอทโค้ชจากจุฬาฯ ฝึกฝนทักษะอนาคตที่ใช่เพื่ออาชีพที่ชอบ

ข่าวทั่วไป Monday September 26, 2022 14:41 —ThaiPR.net

EmpowerME แชทบอทโค้ชจากจุฬาฯ  ฝึกฝนทักษะอนาคตที่ใช่เพื่ออาชีพที่ชอบ

EmpowerMe แอปพลิเคชันแชทบอทรูปแบบโค้ช เตรียมพร้อมผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล พัฒนาทักษะแห่งอนาคต แนะงานที่เหมาะสมและเป็นที่ต้องการในตลาด ผลงานอาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ คว้าเหรียญทองจากงานประกวดนวัตกรรม ประเทศเกาหลีใต้

"โตขึ้นอยากเป็นอะไร?" "เรียนจบแล้วจะทำงานอะไรดี" "สนใจอยากเป็น Metaverse storyteller จะต้องเรียนด้านไหน มีทักษะหรือคุณสมบัติอะไรบ้าง" เหล่านี้เป็นคำถามกวนใจนักเรียนและนิสิตหลายคนที่ยังไม่รู้จะหาคำตอบจากที่ไหน

วันนี้ EmpowerMe ช่วยได้! "EmpowerMe เป็นแอปพลิเคชันแชทบอทที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้เรียนก้าวทันโลกดิจิทัลเพื่อพร้อมรับการเป็นพลเมืองโลก แอปนี้เป็นเสมือนโค้ชที่แนะนำเรื่องการเรียนรู้และการฝึกฝนทักษะเพื่อเตรียมผู้เรียนให้พร้อมกับอาชีพในฝัน" ศาตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา กล่าวถึงผลงานนวัตกรรมล่าสุดจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคว้าเหรียญทองจากงาน "Seoul International Invention Fair (SIIF 2021)" ณ ประเทศเกาหลีใต้

EmpowerME สู่การเป็น Digital Learner
ปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน รวมทั้งการเรียนรู้ ดังนั้น การเรียนรู้นับจากนี้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมและสร้างการเรียนรู้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน

"เนื้อหาความรู้ในตำราไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกศตวรรษที่ 21 เสียแล้ว ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองบนอินเตอร์เน็ต แต่นั้นมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่" ศ.ดร.จินตวีร์ กล่าวถึงโจทย์สำคัญที่นำไปสู่การออกแบบแอปพลิเคชัน EmpowerMe เพื่อส่งเสริมการรู้ดิจิทัลของผู้เรียนในบริบทพลเมืองดิจิทัล (Digital citizen)

"ความเป็น digital learner หมายถึงผู้เรียนมีทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย มีวิจารณญาณในการเลือกใช้ digital technology รูปแบบต่างๆ ในการเรียนรู้ digital content ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ศ.ดร.จินตวีร์ อธิบายแนวทางที่แอปพลิเคชัน EmpowerME จะช่วยผู้เรียนในการพัฒนาทักษะดังกล่าว

ทั้งนี้ ศ.ดร.จินตวีร์ กล่าวว่าได้ศึกษาเทรนด์และปรึกษา ศาสตราจารย์โยชิดะ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ในการทำแอปพลิเคชันที่สามารถใช้ร่วมกับเครื่องไม้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ที่สวมใส่บนร่างกายได้ อย่าง VR glasses เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เนื้อหาในบทเรียนมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น

EmpowerMe โค้ชแนะแนวอาชีพ 24 ชม.

EmpowerME ไม่เพียงส่งเสริมทักษะความสามารถและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) แต่ยังช่วยพัฒนาทักษะอาชีพที่ผู้เรียนสนใจด้วย

"EmpowerME เปรียบเสมือนครูแนะแนวหรือโค้ชส่วนตัวที่ให้คำปรึกษาการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนยุคดิจิทัลสามารถเลือกงานที่เหมาะสมกับพวกเขาที่สุด ความพิเศษของแชทบอทนี้อยู่ตรงที่สามารถตอบโต้ผู้เรียนได้ 24 ชม. อยากเรียนตอนไหนก็ได้ ซึ่งตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี"

ศ.ดร.จินตวีร์ เล่าวิธีการใช้งาน EmpowerMe ว่าแอปพลิเคชันจะคัดเลือกและจับคู่ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้ (users) กับงานในฝัน โดยจะแนะนำบทเรียนที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่เหมาะกับงานอาชีพนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลความก้าวหน้าของผู้เรียน เพื่อช่วยวิเคราะห์และประเมินผลการเรียนรู้ของแต่ละคนอีกด้วย

ทั้งนี้ รูปแบบการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะจะทำผ่านรูปแบบเกมที่ผู้เรียนต้องพิชิต 4 ด่านภารกิจ ดังนี้

  • ภารกิจ 1 Self-Initiation ผู้เรียนกำหนดความชัดเจนและเป้าหมายของงานในฝัน
  • ภารกิจที่ 2 Self-Planning ผู้เรียนวางแผน ปรับแต่งและเลือกแหล่งข้อมูล เครื่องมือการเรียนรู้ของตนเอง (อุปกรณ์สวมใส่ได้ เช่น สมาร์ทวอทช์ EEG และ VR Glass) ที่เหมาะกับงานในฝัน
  • ภารกิจที่ 3 Self-Learning การเรียนรู้ด้วยตนเองใน Metaverse โดยผู้เรียนปรับแต่งคาแรคเตอร์ของตนเองและอุปกรณ์สวมใส่ได้ เช่น แว่นตา VR, แถบคาดศีรษะ (EEG) เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น เทคนิค Pomodoro รวมถึงความชอบ โดยมีฟังก์ชั่นที่สามารถสนทนากับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาและเติมเต็มทักษะใหม่ ๆ ได้
  • ภารกิจที่ 4 Self-Evaluation การประเมินตนเอง ผู้เรียนจะได้รับแรงจูงใจจากการได้รับเหรียญรางวัล เพื่อเป็นการยกย่องความสำเร็จของผู้เรียน

ทักษะแห่งอนาคต ฝึกเสียตั้งแต่วันนี้!
ทักษะแห่งอนาคตที่ของแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะอาชีพในฝัน อย่างไรก็ดี ศ.ดร.จินตวีร์ กล่าวว่าทุกคนควรพัฒนา "ทักษะแห่งอนาคต" (Future Skill Set) ซึ่งโดยหลักแล้วมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม ได้แก่

  • มีความเชี่ยวชาญในสมรรถนะในวิชาชีพของตนเอง
  • ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
  • Soft skills เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น (collaboration skill) ทักษะการเป็นผู้นำ (leadership skill) ทักษะการโน้มน้าวต่อรอง (negotiation skill) เป็นต้น
  • ศ.ดร.จินตวีร์ กล่าวเสริมว่า EmpowerMe ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ผ่านการสำรวจและรวบรวมข้อมูลประสบการณ์การใช้แอปพลิเคชันของผู้ใช้ (user experience) และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลหลายท่าน จนพัฒนาเป็นเว็บแอปพลิเคชันสำหรับการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต อีกทั้งยังคว้าสิทธิบัตรทางด้านการออกแบบหน้าจอ (user interface) อีกมากมาย

    "โปรเจคต่อไป ตั้งเป้าจะขยายการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นการทำงานข้ามศาสตร์ นั้นคือ ฝั่งการแพทย์ พยาบาล โดยการออกแบบแชทบอทให้ตอบโจทย์ความต้องการของวิชาชีพนั้นๆ นับว่าเป็นความท้าทายที่จะนำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการศึกษาไปทำประโยชน์ให้กับองค์ความรู้แขนงอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์วิชาชีพเฉพาะทางและการเรียนรู้ตลอดชีวิต" ศ.ดร.จินตวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

    สำหรับผู้ที่สนใจทดลองใช้ EmpowerME ทางผู้พัฒนาแจ้งว่าจะมีการเปิดให้เข้าใช้งานเร็วๆ นี้ที่ https://empower-me.tech/login โดยติดตามข่าวสารความคืบหน้าได้ทาง https://www.chula.ac.th/


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ