โปรตีนรั่วในปัสสาวะ.. ควรระวังโรคไตอักเสบ

ข่าวทั่วไป Monday October 31, 2022 10:07 —ThaiPR.net

โปรตีนรั่วในปัสสาวะ.. ควรระวังโรคไตอักเสบ

การมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เป็นหนึ่งในอาการของโรคไตอักเสบ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะนำไปสู่ภาวะไตวายในอนาคต และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมาได้ คนทั่วไปอาจยังไม่รู้จักกับภาวะนี้ เพราะเป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่สามารถสังเกตอาการได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง

พญ.รัตติยา เภาทอง อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือที่เรียกว่า "ภาวะเนฟโฟรติก" เกิดจากความผิดปกติของไต ทำให้มีการรั่วของโปรตีนอัลบูมินออกมาในปัสสาวะปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดอาการบวมตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณขาทั้งสองข้าง ซึ่งสาเหตุของการเกิดโปรตีนรั่วในปัสสาวะนั้นยังไม่ทราบชัดเจน บางรายอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

ภาวะเบาหวาน ยาบางชนิด การติดเชื้อ โรคกลุ่มออโตอิมมูน เป็นต้น อาการแทรกซ้อนจากภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ ภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคเอง และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษา

อาการของภาวะเนฟโฟรติก

  • ปัสสาวะมีฟอง
  • อาการบวมบริเวณท้อง แขน ขา ข้อเท้า เท้า และรอบดวงตาโดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอน
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • การป้องกันภาวะเนฟโฟรติก

     ภาวะนี้ไม่สามารถป้องกันโดยตรง แต่การปฏิบัติตัวเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตทำงานผิดปกติร่วมด้วยได้

  • รักษาโรคประจำตัวให้ดี เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลเสียต่อไต เช่น ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งส่งผลข้างเคียงอันตรายต่อไตทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง
  • ควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหาร น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไม่ชัดเจน การตรวจที่บอกได้แน่ชัดคือการตรวจวัดปริมาณโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ หากพบว่ามีอาการเข้าข่ายควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

    สำหรับการรักษาภาวะเนฟโฟรติก ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรค อย่างไรก็ตามยาที่ใช้รักษาอาจมียาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิ ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยาหรือซื้อยามารับประทานเอง ที่สำคัญควรดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร โดยเลือกอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ทั้งรสหวานและรสเค็ม เพื่อให้การรักษาได้ประสิทธิภาพที่ดี และป้องกันภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาการติดเชื้อที่สามารถเกิดขึ้นได้

    ข้อมูลดีๆจาก.. พญ.รัตติยา เภาทอง อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต  คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว


    แท็ก โปรตีน  

    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ