กยท. จัดงาน Talk About Rubber ครั้งที่ 5 วิเคราะห์สถานการณ์ยางส่งท้ายปี ลุยแนวคิด RAOT ECO LIFE การปลูกสวนยางกับระบบนิเวศยั่งยืน เต็มรูปแบบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 10, 2022 14:42 —ThaiPR.net

กยท. จัดงาน Talk About Rubber ครั้งที่ 5 วิเคราะห์สถานการณ์ยางส่งท้ายปี ลุยแนวคิด RAOT ECO LIFE การปลูกสวนยางกับระบบนิเวศยั่งยืน เต็มรูปแบบ

วันนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดงาน Talk About Rubber ครั้งที่ 5 เปิดบทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราไตรมาส 4 ส่งท้ายปี พร้อมลุยแนวคิด RAOT ECO LIFE การปลูกสวนยางกับระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง วิเคราะห์สถานการณ์ยางประจำไตรมาสที่ 4/2565 ว่า คาดการณ์ผลผลิตยางปี 2565 เป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน โดยผลผลิตยางไตรมาสนี้ มีปริมาณอยู่ที่ 1.677 ล้านตัน และช่วงของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เกิดฝนตกชุก น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคอีสาน และใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ ส่งผลให้ผลผลิตยางในประเทศลดลง ประมาณ 43%

สำหรับการส่งออกในไตรมาสที่ 3/65 ไทยส่งออกรวม 1.15 ล้านตัน ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติ ได้แก่ อุตสาหกรรมถุงมือยาง สมาคมถุงมือยางประเทศมาเลเซีย(The Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ว่าในปี 2566 อุตสาหกรรมถุงมือยางจะเติบโตขึ้น 12%-15% หลังจากที่หดตัวลง 19% ในปีนี้ และอุตสาหกรรมยางล้อทางสมาคมผู้ผลิตยางล้อแห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) คาดการณ์การจัดส่งยางล้อของสหรัฐทั้งหมด 342.1 ล้านหน่วยในปี 2565 เทียบกับ 335.2 ล้านหน่วยในปี 2564 และ 332.7 ล้านหน่วยในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 2.1% จากปี 2564 สถานการณ์การผลิตยางล้อในยุโรป สมาคมผู้ผลิตยางล้อยุโรป (European Tyre & Rubber Manufacturers' Association (ETRMA)) รายงานว่าตลาดยางทดแทนในยุโรปลดลงในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวลงภายหลังจากการฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ Sublime China Information รายงานว่ากำลังการผลิตของโรงงานผลิตยางล้อ (Semi-steel tire) ในประเทศจีนอยู่ที่ 54.18% ลดลง 2.3% Y-O-Y ปัจจัยที่ทำให้กำลังการผลิตลดเนื่องจาก โรงงานยางล้อในมณฑลชานตงลดปริมาณกำลังการผลิตยางล้อ ประชาชนจีนยังคงระมัดระวังการเดินทางต่างพื้นที่ทำให้มีแนวโน้มการเปลี่ยนล้อยางลดลง และโรงงานยางล้อบางแห่งต้องลดกำลังการผลิตเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน

ปิดท้ายที่ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม สหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มชะลอลงจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ด้านยูโรโซน มีแนวโน้มหดตัวลงเล็กน้อยในครึ่งปีหลัง จากวิกฤติพลังงานรุนแรง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ทางฝั่งประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก มีการฟื้นตัวเปราะบางในหลายภาคส่วนจากมาตรการ Zero Covid การล็อกดาวน์บางพื้นที่ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทางจีนได้ใช้มาตรการการเงินและการคลังผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจแปรปรวนเกษตรกรควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมการและปรับตัวได้อย่างทันท่วงที ซึ่ง กยท. ยังคงดำเนินโครงการช่วยเหลือ เช่น โครงการชะลอการขายยางร่วมกับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวคิด RAOT ECO LIFEการปลูกสวนยางกับระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ว่า กยท. เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการทำสวนยางอย่างยั่งยืนผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการ 1,000 ไร่ โดย กยท. ร่วมกับ บริษัท Societe Des Matieres Premieres Tropicales Pte Ltd (SMPT) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU เพื่อร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านการทดลองในพื้นที่สวนยางพาราจำนวน 1000 ไร่ ของ กยท. ให้เป็นพื้นที่สาธิตตามแนวทางการจัดการฟาร์มที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มบริษัทผู้ใช้ยางธรรมชาติ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย คนกรีดยาง ปกป้องสิ่งแวดล้อมของทรัพยากรธรรมชาติ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อีกหนึ่งโครงการที่กำลังจะจัดสัมมนาขึ้นในวันที่ 3-5 ธันวาคม 2565 คือโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการทำสวนยางอย่างยั่งยืนผ่านรูปแบบเครือข่าย ณ บ้านสวนเสริมทรัพย์ จ.ลำปาง โดยเชิญปราชญ์/ผู้รู้ ด้านการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนมาถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์ โดยมีเป้าหมายหลักของผู้เข้าสัมมนาเป็นสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศกว่า 300 คน เพื่อเป็นต้นแบบ การทำสวนยางอย่างยั่งยืน รวมไปถึงความคืบหน้าที่ กยท. ได้เข้าสำรวจเกษตรกรประเภทเจ้าของสวน จำนวน 46,648 ราย ผ่าน Application Rubberway พบว่าการดำเนินงานไปในทิศทางที่ดี มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของยางธรรมชาติอยู่ในระดับน้อยในทุกๆ ด้าน ซึ่งในวันที่ 7 ธันวาคม นี้ กยท. จะสรุปผลกรดำเนินงานโครงการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

ปิดท้ายที่โครงการสำคัญอย่างเรื่องคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา โดยยางพาราเป็นป่าปลูกที่มีศักยภาพสูงในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กยท.จึงผลักดันสวนยางของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. จำนวนกว่า 22 ล้านไร่ เข้าสู่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ภายใต้มาตรฐานของ อปก. สำหรับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากโครงการ T-VER สามารถนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคลได้ ถือเป็นการส่งเสริม ดูแลสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้และค่าตอบแทนเสริมให้กับชาวสวนยางนอกเหนือรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำยาง. ผู้ว่าการ กยท. กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ