สมาคมคลินิกไทย เชิญ สบส., อย., สคบ., บก.ปคบ. ร่วมเสวนาขจัด หมอเถื่อน ให้หมดจากสังคมไทย

ข่าวทั่วไป Friday November 11, 2022 08:55 —ThaiPR.net

สมาคมคลินิกไทย เชิญ สบส., อย., สคบ., บก.ปคบ. ร่วมเสวนาขจัด หมอเถื่อน ให้หมดจากสังคมไทย

ปัญหาเรื่อง หมอเถื่อน ยาเถื่อน คลินิกเถื่อน ที่เกิดขึ้น และมีข่าวอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบทางด้านการให้บริการสุขภาพ และยังส่งผล ด้านการพัฒนาสังคมและ เศรษฐกิจของประเทศในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยการพัฒนาจะเน้นการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนผู้ใช้บริการ โดยสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน ที่ได้รับรู้ เข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อลดการเกิดปัญหาต่างๆดังที่ได้กล่าวมา ตลอดเวลามากกว่า 10 ปี ที่สมาคมคลินิกไทยได้มีการรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือสังคม แบบปิดทองหลังพระ ทำให้ประชาชนไม่ทราบมาก่อนว่า สมาคมคลินิกไทยทำอะไรบ้าง ทำให้วันนี้ สมาคมคลินิกไทย ได้จัดเสวนา ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.), สำนักงานคุณกรรมการอาหารและยา (อย.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ทั้ง 5 หน่วยงานที่มีแนวคิดที่ตรงกันเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอเถื่อนให้หมดไปจากสังคมไทย ทำในหัวข้อ "หมอเถื่อน?ปัญหาที่ควรหมดไปจากสังคม" ณ ห้องประชุมเบียงก้า ชั้น 3 อาคาร 2 โรงแรมบางกอกชฏา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

เริ่มจาก นายแพทย์ธนวรรฒน์ โชติมา นายกสมาคมคลินิกไทย กล่าวว่าสมาคมคลินิกไทย จะเป็นศูนย์กลางในประสานงานการร้องเรียนทุกเรื่องในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ทราบว่าต้องติดต่อหน่วยงานไหน หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน ยาเถื่อน ก็สามารถสอบถามข้อมูลที่ถูกต้องได้ที่สมาคมคลินิกไทย เช่น หมอเถื่อน ไม่ได้หมายถึงแค่บุคคลที่ไม่ได้เป็นแพทย์ มาทำการรักษา แต่รวมไปถึง กลุ่มอาชีพที่ทำการชักชวนไปทำสวยที่เรียกกันติดปากว่า เอเจนซี่ แล้วยังรวมถึงแพทย์ไทยหรือแพทย์ต่างชาติที่ให้คำปรึกษา หรือลงมือทำการรักษา รวมไปถึงกรณีคลินิกเปิดทำการเกินเวลาที่ขออนุญาตก็ถือว่าเป็น หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน ด้วยเช่นกัน

ทาง นายชาตรี พินใย ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)ได้กล่าวถึงสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชนต้องตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง ตราบใดที่เรายังยึดติดกับคำว่าไก่งานเพราะขนคนงามเพราะแต่ง เราต้องสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนสำนึกในตัวเองอย่างไรบ้าง ทราบถึงหมอจริงเป็นอย่างไร คลินิกจริงเป็นอย่างไร ยาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร วิธีการตรวจสอบง่ายๆเริ่มจาก คลินิกนั้นต้องมีผู้ประกอบการ เป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา , ผู้ดำเนินการ ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพถูกต้องตามกฏหมายกำหนดเท่านั้น , เลขอนุญาตที่จำนวน 11 หลักสีเขียวที่แสดงถึงการรับรองสถานพยาบาลนั้นถูกต้องเข้าข่ายคลินิกเถื่อน หรือไม่ นอกจากนี้ ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ, การบริการรวมถึงมาตรฐานในการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน/คลินิกในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร, การโฆษณาเกี่ยวกับสถานพยาบาล/คลินิกที่เกินจริง ก็สามารถร้องเรียนเข้ามาที่ สบส.ได้ทั้งนั้น

ด้านทาง ภญ. อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนยาเถื่อนที่ส่งมาทาง อย. ในปี 2565 มีทั้งหมด 155 เรื่องจาก 3 พันกว่าเรื่อง สัดส่วน 4.29 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าไม่เยอะแต่เป็นผลิตภัณฑ์อันตราย และคนที่ใช้ก็เป็นหมอเถื่อน อย่างไรก็ตามการนำเข้ายาจะมีการแอบอ้างเป็นของแท้จากต่างประเทศ แต่ถ้าไม่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็จัดว่าเป็นยาเถื่อนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ยาเถื่อน จะแบ่งได้ 4 ประเภท คือ 1) ยาปลอม 2) ยาไม่ขึ้นทะเบียน 3) ยาหมดอายุ หรือยาเสื่อมคุณภาพแต่นำมาใช้ 4) ยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียน หากพบเห็นยาที่เข้าเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อนี้ ทั้งในคลินิก หรือทางออนไลน์ก็สามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งสิ้น

ส่วน นายอนุพงษ์ เจริญเวช ผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เล่าถึงเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนจะเกิดจาก 2 เหตุใหญ่ๆ คือ ผิดพลาด เกิดได้จากหมอเถื่อน คลินิกเถื่อน และ ผิดคาด(หวัง) เกิดได้จากการไม่ศึกษาข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ได้พบแพทย์ก่อนทำการรักษา เชื่อรีวิว ทำให้ผลลัพธ์ไม่ตรงกับสิ่งที่คาดหวังไว้

พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้กล่าวว่าที่ผ่านมา บก.ปคบ. ทำงานคู่ขนาน กับ อย. , สบส., สคบ. มาโดยตลอด การทำงานของหน่วยงานจะอิงจาก พรบ. ยา, พรบ.อาหาร, พรบ.สถานพยาบาล และ พรบ.วิชชาชีพ มาใช้ในการทำงาน จับกุม หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน ยาเถื่อน แล้วดำเนินงานต่อเนื่องจนจบทุกคดี โดยไม่กลัวกับผู้มีอิทธิพลที่เข้ามาแทรกแซงการทำงาน ที่มีมาตลอดเวลาทำงานที่ผ่านมา

ทั้ง 5 หน่วยงานต่างเห็นตรงกันว่าต้องการความร่วมมือจากประชาชนเป็นหลัก โดยที่ประชาชนควรได้รับข้อมูลทั้ง เรื่อง หมอ คลินิก ยา ที่มากขึ้นและถูกต้อง ทั้งควรใช้สติ ตรวจสอบ ไม่เชื่อคำโฆษณา ภาพรีวิว เห็นราคาถูกเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจ ก่อนเข้าทำการรักษา ต้องตอบให้ได้ว่า รักษากับใคร ได้คุยกับแพทย์ หรือยัง แล้วเป็นแพทย์จริงไหม รักษาที่สถานพยาบาลที่ถูกต้องหรือไม่ และยาที่ใช้เป็นของแท้ ปลอดภัย แล้วผลลัพธ์จะตรงตามที่คุยไว้แต่แรกหรือไม่ เพื่อป้องกัน ลดการเกิดปัญหาที่มีอย่างต่อเนื่องอย่างทุกวันนี้ อีกทั้งเบาะแสจากประชาชนก็เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยแจ้งร้องเรียนเรื่องต่างๆเข้ามาได้ที่ Line official account รับเรื่อง-ร้องเรียน ข้อมูล กรณีคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน/หมอปลอม ยาเถื่อน/ยาปลอม ได้ตามลิงค์ https://lin.ee/Dy4IirI ตลอดเวลา ท้ายนี้ทั้ง 5 หน่วยงานเชื่อว่า ปัญหา หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน ยาเถื่อนจะหมดไป ถ้าได้พลังจากการร่วมมือของทุกคนในสังคม นั้นเอง


แท็ก สคบ.   อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ