แนวโน้มตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้

ข่าวทั่วไป Thursday August 11, 2005 16:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--ธ.ไทยธนาคาร
สำนักวิจัยมองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 680 — 690 จุด ส่วนเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 40.90 — 41.20 บาท/ดอลลาร์
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์นี้ ( 15 - 19 ส.ค. 48 ) โดยสำนักวิจัยมองว่า ในสัปดาห์นี้ ดัชนีหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 680 — 690 จุด เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจในทิศทางของตลาด ประกอบกับยังไม่มีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยจะได้รับแรงหนุนจากการซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ สำหรับมูลค่าการซื้อขายคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับกลยุทธ์ในสัปดาห์นี้คือ การเลือกลงทุนในหุ้นที่มีขนาดเล็ก สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ คือกลุ่มปิโตรเคมี ( เช่น ATC ) เนื่องจากราคาโอเลฟินส์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น, กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ( เช่น CPF , GFPT ) เนื่องจากผลประกอบการออกมาดี ซึ่งถือเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสินค้าเกษตร
สำหรับทางด้านค่าเงินบาท สำนักวิจัยมองว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 40.90 — 41.20 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากจะมีแรงขายเงินบาทเพื่อทำกำไร หลังจากเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ตลาดรอดูท่าที ธปท. ที่อาจจะเข้าแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตามดอลลาร์ถูกกดดันจากการคาดว่าตัวเลขยอดขาดดุลการค้าสหรัฐฯ จะเพิ่มสูงขึ้นในเดือน มิ.ย. และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
การออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 2548-2549 ของกระทรวงการคลัง เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปวงเงิน 30,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โดยเริ่มลอตแรก รุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.4% วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 15-24 ส.ค.นี้ สำนักวิจัย มองว่า ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงค่าเงินหรืออำนาจซื้อที่ลดลง การลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการออมในระยะปานกลางที่ผู้ลงทุนสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการขาดทุนอันเกิดจากระดับอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะการลงทุนในพันธบัตรจะช่วยรักษามูลค่าของเงินทุนและให้ผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ยซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ การทยอยออกพันธบัตรของทางการยังมีส่วนช่วยลดปัญหากับดักสภาพคล่องอันจะส่งผลให้กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ปีงบประมาณ 2548-2549
การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ปีงบประมาณ 2548-2549
รายการ อายุ (ปี) จำนวนเงิน (ล้านบาท) วันจำหน่าย
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 1 7 5,000 15-24 ส.ค.48
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 2 5 5,000 15-26 ก.ย. 48
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 3 7 2,000 14-25 ต.ค.48
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 4 5 2,000 15-24 พ.ย.48
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 5 7 2,000 15-26 ธ.ค.48
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 6 5 2,000 16-25 ม.ค.49
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 7 7 2,000 15-25 ก.พ.49
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 8 5 2,000 15-24 มี.ค. 49
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 9 7 2,000 17-26 เม.ย.49
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 10 5 2,000 15-24 พ.ค.49
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 11 7 2,000 15-26 มิ.ย.49
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นที่ 12 5 2,000 14-25 ก.ค.49
ที่มา : กระทรวงการคลัง
สำหรับทิศทางตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์นี้ (15 — 19 ส.ค 48) คาดว่า อัตราผลตอบแทนจะมีแนวโน้มผันผวน ส่วนหนึ่งเนื่องจากอัตราผลตอบแทนได้ปรับตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯเดือนก.ค.ที่ประกาศในวันที่ 16 ส.ค.คงไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะเป็นแรงกดดันหลักต่อการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯและตลาดตราสารหนี้ไทย เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ขณะที่ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไปแตะที่ระดับ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล คาดว่า จะเป็นแรงกดดันให้ดัชนีดาวโจนส์ (DJIA) มีแนวโน้มปรับตัวลดลงโดยเฉพาะนักลงทุนบางส่วนอาจโยกเงินไปเก็งกำไรในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า และบางส่วนหันเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงได้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ