กรีนพีซเรียกร้องฟื้นมติ ครม. ห้ามทดลองจีเอ็มโอในแปลงเปิด หวั่นห่วงโซ่อาหารไทยเกิดการปนเปื้อน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 8, 2008 16:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--กรีนพีซ
กรีนพีซจี้รัฐบาลปัดฝุ่นมติ ครม.จีเอ็มโอยุคขิงแก่เสียใหม่ หวั่นอนาคตเกษตรกรรมไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากการปนเปื้อนจีเอ็มโอหากกระทรวงเกษตรฯเพิกเฉยที่จะปกป้องภาคเกษตรกรรมของประเทศ
ข้อเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการเปิดเผยรายงานสถานการณ์การปนเปื้อนจีเอ็มโอ ปี 2550 ซึ่งแหล่งที่มาของข้อมูลในรายงานฉบับนี้รวบรวมจากเหตุการณ์การปนเปื้อนจีเอ็มโออย่างผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นทั่วโลก รายงานดังกล่าวระบุกรณีการปนเปื้อนจีเอ็มโอที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งหมด 39 กรณี และหนึ่งในนั้นคือ การปนเปื้อนของข้าวโพดจีเอ็มโอในประเทศไทย ที่มีรายงานการพบการปนเปื้อนในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
การปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอเพื่อการค้าหรือแม้กระทั่งการทดลองในพื้นที่เปิดเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายในประเทศไทยในขณะนั้น แต่กลับพบข้าวโพดจีเอ็มโอปนเปื้อนอยู่ในแปลงข้าวโพดของเกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอยู่ใกล้กับแปลงทดลองของบรรษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง บริษัทมอนซานโต และจากบันทึกของกรมวิชาการเกษตรระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2542 มอนซานโตได้ขอนำเข้าข้าวโพดจีเอ็มโอจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 5 กิโลกรัม เพื่อทดลองปลูกในแปลงทดลอง
“การปนเปื้อนจีเอ็มโอที่ระบุในรายงานนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปนเปื้อนที่สามารถระบุได้เท่านั้น ในความเป็นจริงการปนเปื้อนโดยเฉพาะข้าวและข้าวโพดจีเอ็มโอได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและแพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพืชจีเอ็มโอควบคุมไม่ได้ และการที่รัฐบาลไม่ดำเนินการเพื่อยับยั้งการคุกคามของพืชจีเอ็มโอ เท่ากับว่ารัฐพยายามผลักให้แหล่งอาหารและความมั่นคงทางชีวภาพของเราอยู่ในภาวะอันตราย” นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์การปนเปื้อนจีเอ็มโอขึ้นแล้วหลายครั้ง ครั้งแรกในปี 2542 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยอนุญาตให้ทดลองพืชจีเอ็มโอได้ในแปลงทดลองแบบเปิดเท่านั้น แต่กลับพบฝ้ายจีเอ็มโอปนเปื้อนออกสู่แปลงของเกษตรกร หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2547 กรีนพีซเปิดโปงกระทรวงเกษตรฯ ว่าเป็นสาเหตุทำให้มะละกอไทยปนเปื้อนจีเอ็มโอ โดยมีการทดลองมะละกอจีเอ็มโอที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ส่วนแยกพืชสวน จ.ขอนแก่น และปล่อยให้มีการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์มะละกอที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอให้กับเกษตรกรไทยกว่า 2,669 ราย ใน 37 จังหวัดทั่วประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กระทรวงเกษตรฯล้มเหลวในการควบคุมการแพร่กระจายของพืชจีเอ็มโอ สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทย การปนเปื้อนที่ผิดกฎหมายและไม่พึงประสงค์นี้เป็นเหตุให้ตลาดโลกโดยเฉพาะในยุโรปขาดความเชื่อมั่นต่อการส่งออกมะละกอไทย
การปนเปื้อนข้าวโพดจีเอ็มโอถือเป็นความเสี่ยงรุนแรง เนื่องจากละอองเกสรของข้าวโพดนั้นสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าพืชชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ข้าวโพดยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆของประเทศและมีโอกาสสูงที่ประเทศคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นอาจยกเลิกการนำเข้าหากมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอเกิดขึ้น
การปนเปื้อนข้าวโพดจีเอ็มโอที่เกิดขึ้นนั้น เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดเป็นต้นเหตุของการปนเปื้อนจีเอ็มโอ เนื่องจากพืชจีเอ็มโอไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนได้ ในอดีต ประเทศไทยเคยมีมติคณะรัฐมนตรี 3 เมษายน 2544 ที่ห้ามทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอทุกชนิดในระดับไร่นา แต่รัฐบาลชุดขิงแก่กลับฉวยโอกาสยกเลิกมติดังกล่าวเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ก่อนสิ้นวาระเพียงไม่กี่วัน
“กรณีล่าสุดนี้เป็นบทเรียนที่ชัดเจนว่าพืชจีเอ็มโอไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อใดที่จีเอ็มโอปนเปื้อนออกสู่ธรรมชาติแล้ว เราจะไม่สามารถเรียกสิ่งแวดล้อมเดิมกลับคืนมาได้ เพราะพืชจีเอ็มโอได้กลืนกินพืชธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการส่งออกของประเทศ” นางสาวณัฐวิภากล่าวเสริม “ทางออกที่ดีที่สุดคือการคงมติ ครม. 3 เมษายน 2544 เอาไว้ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านการส่งออกของไทย รวมทั้งป้องกันไม่ให้พืชจีเอ็มโอเข้าสู่ประเทศและทำให้ภาคเกษตรกรรมไทยต้องล่มสลาย”
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ) โทร. 08 5843 7300
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร.08 9487 0678 หรือ 0 2357 1921 ต่อ 115
Wiriya Kingwatcharapong (Nueng)
Media Campaigner
Greenpeace Southeast Asia, Thailand
Office: +662 3571921 #115
Mobile: +6689 4870678
skype: wiriyanueng
wiriya@th.greenpeace.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ