วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสว่างควัฒน์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดรับนักศึกษาใหม่ปี 2566 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เร่งพัฒนาการแพทย์ด้วย Data Science

ข่าวทั่วไป Wednesday December 14, 2022 11:16 —ThaiPR.net

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสว่างควัฒน์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดรับนักศึกษาใหม่ปี 2566  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เร่งพัฒนาการแพทย์ด้วย Data Science

ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ในแต่ละวันจึงมีข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และอยู่ในรูปแบบของดิจิทัล ที่สามารถเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง สามารถรับรู้และค้นหาได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลเส้นทางการเดินทางและสภาพการจราจร ข้อมูลรายการอาหาร ข้อมูลสถานพยาบาล ข้อมูลการรักษาพยาบาล ข้อมูลเกี่ยวกับยารักษาโรค ซึ่งจากปริมาณข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีทักษะเฉพาะอย่าง Data Scientist หรือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล มาวิเคราะห์ข้อมูล ทำการต่อยอดความรู้จากแหล่งต่างๆ รวมถึงสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงเกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการทางการแพทย์

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เล็งเห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงได้ร่วมกันเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ (Bachelor of Science in Health Data Science) ขึ้น โดยมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่เป็นเลิศในด้านการบูรณาการวิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิทยาศาสตร์สุขภาพเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.พีรุทย์ เชียรวิชัย ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีการเปิดหลักสูตรการพัฒนาการแพทย์ ด้วย Data Science รองรับความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งเป็นสาขาที่ใหม่ และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

โดยหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพนี้ เหมาะสำหรับนักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและมีความสามารถทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์ โดยบัณฑิตของหลักสูตรจะมีส่วนช่วยในการบริหาร จัดการ วิเคราะห์ฐานข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ จากแหล่งต่างๆ และนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาทางการแพทย์ และการสาธารณสุข เพื่อตอบโจทย์ของทั้งการรักษาและการวิจัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว นอกจากนี้บัณฑิตจะถูกปลูกฝังด้วยค่านิยมที่ดี ทั้งการเสียสละต่อส่วนรวม ความมุ่งมั่น ความซื่อสัตย์ เพื่อนำมาซึ่งประโยชน์ของผู้คนในสังคมด้วย

สำหรับ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ จะมีการเรียนทั้งที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากผู้สอนอย่างใกล้ชิด ตลอดการเรียนในหลักสูตร 4 ปี ทั้งภาคทฤษฎี คือ การเรียนรู้พื้นฐานที่จำเป็นทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) เช่นการเขียนโปรแกรม สถิติ และระบบฐานข้อมูล ร่วมกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health science) เช่นระบบสุขภาพ การวินิจฉัยและอณูชีววิทยา และจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเองในภาคปฏิบัติ รวมถึงฝึกงานกับสถานที่ประกอบการจริง นักศึกษาจะได้นำความรู้ทั้งสองด้านมาประยุกต์รวมกันให้เกิดเป็นความรู้ใหม่เพื่อนำไปประกอบวิชาชีพต่อไป

ภายหลังจากจบหลักสูตรแล้ว นักศึกษาสามารถศึกษาต่อได้ในสาขา วิศวกรรมข้อมูล วิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ชีวสารสนเทศและชีววิทยาเชิงระบบระบาดวิทยา ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ

อีกทั้งยังนำข้อมูลทางสุขภาพมาสร้างประโยชน์ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล ทำนายข้อมูล รวมไปถึงการสรุปข้อมูลออกมานำเสนอให้เข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่ายในชีวิตประจำวันสำหรับประชาชนทั่วไป รวมถึงสามารถที่จะต่อยอดงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมต่างๆ ออกมาเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ยกระดับการดูแลสุขภาพและแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น นักศึกษาที่จบหลักสูตรยังสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ทั้งในโรงพยาบาล สถาบันวิจัย หน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ซึ่งกำลังต้องการบุคลากรเป็นจำนวนมาก โดยมีอาชีพที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่นอาชีพดังต่อไปนี้

  • นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือวิศวกรข้อมูล (Data scientist/ Data engineer) มีหน้าที่ในการสร้างระบบฐานข้อมูลในการเก็บข้อมูล รวมไปถึงการดึงข้อมูลออกมาสร้างเป็นผลสรุปที่น่าสนใจและอธิบายเหตุการณ์ในอดีต รวมไปถึงทำนายเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตได้
  • นักชีวสารสนเทศ (Bioinformatician) มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับชีวสารสนเทศ เช่นข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลการแสดงออกของยีน เพื่อสร้างทฤษฎีใหม่ ๆ หรือระบุจุดที่น่าสนใจในการนำไปวิจัยต่อยอดเพิ่มเติม
  • นักวิจัย (Researcher) มีหน้าที่ศึกษาหาความรู้ในหัวข้อที่สนใจ โดยในปัจจุบัน มีหัวข้อวิจัยจำนวนมากที่ต้องการคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยคำนวณ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมจึงสามารถเข้ามาช่วยด้านการวิจัยได้
  • ทั้งนี้ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2566 โดยผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายและเอียดของหลักสูตร รายละเอียดการรับสมัคร หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-576-6000 ต่อ 8487, https://m.facebook.com/HealthDataSci และ https://pscm.cra.ac.th


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ