ดูแลตนเองอย่างไรให้ห่างไกล"มะเร็ง"

ข่าวทั่วไป Friday January 27, 2023 14:57 —ThaiPR.net

ดูแลตนเองอย่างไรให้ห่างไกล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา เล็กดำรงกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "โรคมะเร็ง" ไว้ว่า เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย (DNA) หรือสารพันธุกรรมในร่างกายที่มีการแบ่งตัวผิดปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม และ/หรือกลไกการซ่อมแซม DNA ในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เซลล์ที่ผิดปกติเกิดการแบ่งตัวมากขึ้น จนกลายเป็นเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ดีความรุนแรงของโรคมะเร็งนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง และระยะของโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเกิดจากหลายสาเหตุ สามารถจำแนกง่าย ๆ เป็น 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้

  • ตัวเรา - เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นมาแต่กำเนิด การติดเชื้อไวรัส และความเสื่อมของร่างกายจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การได้รับถ่ายทอดยีนส์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัส HPV และไวรัส HIV เป็นต้น
  • สภาพแวดล้อม - การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษไม่สะอาด เช่น ฝุ่น PM 2.5, ควันบุหรี่มือสอง, การสูดดมสารพิษจากการประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม และการสัมผัสสารเคมีหลายชนิดเป็นประจำ เป็นต้น
  • พฤติกรรมของบุคคล - การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การไม่ป้องกันตนเองจากแสงแดด, การรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเป็นประจำ เช่น อาหารประเภทปิ้งย่าง, การรับประทานอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ภาวะโรคอ้วน และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
  • ในชีวิตประจำวันของเรามีสารมากมายที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในร่างกาย หากได้รับสารหรือสัมผัสสารเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน เช่น สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) จากเชื้อราในถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ กุ้งแห้ง หัวหอม กระเทียม เป็นต้น สารเฮทเทอโรไซคลิก เอมีน (Heterocyclic Amines; HCAs) ในอาหารประเภทปิ้งย่างไหม้เกรียม สารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) พบสารชนิดนี้ในอาหารที่ทอดหรืออบด้วยความร้อนสูง อาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำเกิน 2 ครั้งขึ้นไป จะส่งผลให้มีสารก่อมะเร็งจากการแตกตัวของน้ำมันที่เสื่อมสภาพ มักพบได้ในอาหารประเภท มันฝรั่งทอด ปาท่องโก๋ กล้วยแขก (ที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ) ขนมปังอบกรอบเกรียม สารไนเตรต-ไนไตรต์ (Nitrate-Nitrite) หรือสารเร่งเนื้อแดง มักพบในผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม กุนเชียง ฯลฯ สารออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) เป็นสารจากยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนมากับผล ผลไม้ และสารแอซีทาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) จากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมในร่างกายในปริมาณที่สูงขึ้นจนทำให้ร่างกายขับออกไม่ทันและจะเข้าไปทำลาย DNA ในร่างกายรวมถึงกระตุ้นยีนส์มะเร็งต่าง ๆ ในร่างกาย

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา เล็กดำรงกุล กล่าวว่า สารก่อมะเร็งต่าง ๆ ผสมผสานอยู่หลากหลายส่วนของการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้น วิธีการที่จะช่วยหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งเหล่านี้เราสามารถทำได้โดย การเลือกการรับประทานอาหาร การเลือกสรรวัตถุดิบในการประกอบอาหาร (กรณีที่ทำอาหารรับประทานเอง) ล้างผักผลไม้ให้ถูกต้องตามกรรมวิธี เลือกซื้อผักและเนื้อสัตว์จากแหล่งที่ปลอดภัยจากสารพิษ รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนที่เป็นต้นทางในการผลิตอาหาร เช่น การปลูกผักแบบปลอดสารพิษ หรือเลี้ยงสัตว์แบบปลอดสารเคมี นอกจากนี้ การควบคุมน้ำหนัก การตรวจเต้านมด้วยเอง การตรวจมะเร็งปากมดลูก การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร และฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามกำหนด ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้

    ทั้งนี้ เราสามารถสังเกตอาการของตนเองในเบื้องต้นได้ด้วยสัญญาณอันตราย 7 ประการ ที่บ่งชี้ว่าอาจจะมีโอกาสเสี่ยงโรคมะเร็ง ได้แก่

    1) ระบบขับถ่ายอุจาระ/ปัสสาวะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีอาการท้องผูกสลับกับอาการท้องเสีย อุจาระลำเล็กลง ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะปนเลือด เป็นต้น

    2) เป็นแผลแล้วหายยาก

    3) มีสารคัดหลั่งไหลผิดปกติไหลออกตามรูทวารของร่างกาย เช่น เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ตกขาวผิดปกติ เป็นต้น

    4) คลำพบก้อนเนื้อ ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย

    5) การรับประทานอาหารมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีอาการกลืนลำบาก กลืนอาหารแล้วเจ็บ

    6) มีไฝ หูด ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น สีเข้มขึ้น มีเลือดไหลออกมา

    7) มีอาการไอผิดปกติ เจ็บคอ เสียงแหบ

    หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีวิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในปัจจุบันจะใช้วิธีการผ่าตัด เคมีบำบัดหรือยารักษาแบบมุ่งเป้า และรังสีรักษา โดยแพทย์พิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดของโรคมะเร็งและระยะของโรคมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละรายไป

    อย่างไรก็ดีแพทย์/พยาบาลจะทำหน้าที่ในการรักษาโรคทางกายเป็นหลัก ส่วนผู้ป่วยเองจะต้องช่วยแพทย์/พยาบาลดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจควบคู่กันไป การดูแลตนเองง่าย ๆ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระหว่างรับการรักษา คือการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ อย่างน้อยวันละ 2,000 - 3,000 มิลลิลิตร/วัน รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ ถั่ว หลีกเลี่ยงผักสดและของหมักดอง เช่น ส้มตำ ยำ น้ำพริกต่างๆ รักษาความสะอาดของร่างกาย และสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการไปในแหล่งชุมชนหลังได้รับยาเคมีบำบัด 7-14 วัน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อ

    อย่างไรก็ดีผู้ป่วยมะเร็งระหว่างได้รับการรักษา สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อป้องกัน/บรรเทาอาการอ่อนล้า (fatigue) หากิจกรรมที่ชอบทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง สวดมนต์ นั่งสมาธิ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการเจ็บป่วย คลายความวิตกกังวล ความเครียดจากการอาการเจ็บป่วย สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ป่วยและครอบครัว สามารถช่วยกันดูแลสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยในระหว่างการรักษา เพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับการรักษาโรคมะเร็งได้


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ