กทม.เน้นย้ำความสำคัญเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED-จัดอบรมการใช้งานอย่างถูกวิธี

ข่าวทั่วไป Friday January 27, 2023 14:54 —ThaiPR.net

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator, AED) ที่ติดตั้งตามพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ สูญหายว่า สนพ.โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ได้ติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED จำนวน 200 เครื่อง ในสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ และสนามกีฬาของ กทม. ตามโครงการ "กทม.ฝ่าวิกฤต เพิ่มโอกาสรอดชีวิตในภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibirllator : AED)" เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ  และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้ โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สนพ.ได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลในพื้นที่ติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED ให้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง เพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ป่วย รวมทั้งรณรงค์อย่างต่อเนื่องถึงการเรียนรู้ขั้นตอนของห่วงโซ่การรอดชีวิต เพื่อเพิ่มโอกาสการกู้ชีพให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล ซึ่ง กทม.ได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายด้านความปลอดภัยในเรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจนหมดสติจะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีภายในเวลาไม่เกิน 4 นาที หากพบผู้ป่วยหมดสติ หยุดหายใจ ให้รีบโทร 1669 ศูนย์เอราวัณ เพื่อรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน เริ่มทำ CPR และเรียกหาเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED ที่อยู่ใกล้เคียงมาช่วยฟื้นคืนชีพ เพื่อให้การฟื้นคืนชีพมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ