สำนักงาน ก.พ. จับมือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระตุ้นจิตสำนึกข้าราชการไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 16, 2008 11:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--สำนักงาน ก.พ.
สำนักงาน ก.พ. จับมือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระตุ้นจิตสำนึกข้าราชการไทย ภายใต้โครงการรณรงค์ข้าราชการร่วมมือกันประพฤติปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการกระตุ้นจิตสำนึกข้าราชการไทยภายใต้โครงการ “โครงการรณรงค์ข้าราชการร่วมมือกันประพฤติปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” โดยจะมุ่งเน้นในการเผยแพร่ด้านคุณธรรม จริยธรรม ของข้าราชการไทย พร้อมมุ่งแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น โดยให้ข้าราชการไทยยึดถือปฏิบัติหน้าที่ตามคำสัตย์ปฏิญาณที่เคยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหลักปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน กอปรกระตุ้นจิตสำนึกของข้าราชไทยให้ผนึกกำลังรวมตัวอย่างเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนทัศนคติให้กับกลุ่มข้าราชการ และบุคลากรที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในอนาคต เพื่อพัฒนาประเทศชาติในอนาคตสืบต่อไป นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงานก.พ.) กล่าวว่า จากการที่สำนักงานก.พ. มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และดูแลข้าราชการไทยทั่วประเทศ ซึ่งข้าราชการไทยทุกคนเปรียบเสมือนข้าแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ ที่ทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้สำนักงานก.พ. จึงเป็นผู้ริเริ่มให้ข้าราชการไทยทุกคนถวายสัตย์ปฏิญาณแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณขึ้นนั้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ข้าราชการที่ดีมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานให้กับประเทศต่อไป รวมถึงปลูกฝังอุดมการณ์เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในกลุ่มผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นประจำทุกปี เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 ให้ทุกส่วนราชการเข้าร่วมโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2542 จวบจนปัจจุบัน นายปรีชา กล่าวอีกว่า การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดี และพลังของแผ่นดิน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีอยู่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเข้มแข็งสุจริต และมีปัญญารู้คิดพิจารณา สิ่งใดเจริญ สิ่งใดเสื่อม สิ่งใดต้องทำ สิ่งใดต้องละเว้น ในการเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และปฏิบัติงานในอนาคต ดังนั้นสำนักงานก.พ. จึงได้จัด “โครงการรณรงค์ข้าราชการร่วมมือกันประพฤติปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” นอกจากนั้นโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐมีจิตสำนึก เพื่อเกิดความตระหนักในความสำคัญของคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่ร่วมมือกันประพฤติปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ มีจิตสำนึกร่วมกันแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ และร่วมกันสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยให้ยึดถือปฏิบัติหน้าที่ตามคำสัตย์ปฏิญาณที่เคยให้ไว้อย่างรู้ความหมาย และนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้จริง พร้อมกันนั้นในทางปฏิบัติโครงการยังมุ่งยกย่องเชิดชูสำหรับผู้ที่ทำความดี อยู่ในแนวทางการดำเนินตามรอยพระราชดำรัชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย “โครงการจะจัดฝึกอบรมข้าราชการทุกหมู่เหล่า ในการนำคำสัตย์ปฏิญาณไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง รวมถึงประชาสัมพันธ์โครงการในรูปแบบต่างๆ ทั้งในด้านภาพยนตร์โฆษณาประชาสัมพันธ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อก่อให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และประพฤติปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณได้อย่างเหมาะสม โดยโครงการดังกล่าวได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพระดับประเทศ ได้ให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ การวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการไทย และยังได้รับความร่วมมือจากข้าราชการระดับสูง อาทิ ปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมเป็นแกนในการนำพาข้าราชการที่อยู่ภายใต้ความดูแลในแต่ละกระทรวง ให้ได้รู้และเข้าใจความหมาย รวมถึงวิธีการดำเนินตามคำสัตย์ปฏิญาณที่เคยให้ไว้อย่างถ่องแท้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความเจริญของประเทศไทยที่ยั่งยืนต่อไป” นายปรีชา กล่าวในที่สุด ศาสตราจารย์ ดร. สุรพงษ์ โสธนะเสถียร อาจารย์ผู้สอนในระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า จากแนวคิดการจัดทำโครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความยินดีร่วมมือกับสำนักงานก.พ. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นจิตสำนึกของข้าราชการไทย ให้ยึดถือปฏิบัติตามคำสัตย์ปฏิญาณที่เคยให้ไว้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจากการศึกษาค้นคว้าวิจัยจะพบว่าระบบของข้าราชการไทยยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจในสายตาของประชาชน อนึ่งยังพบถึงทัศนคติที่มองในด้านการปฏิบัติงานที่เอื้อต่อประโยชน์ของธุรกิจ ดังนั้นโครงการนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนได้รับทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ ทั้งระบบการทำงาน บุคคลากร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในภาพที่สื่ออกไปในสายตาประชาชน เกิดทัศนคติที่ขึ้น โดยในการปรับภาพลักษณ์โดยรวมของกลุ่มข้าราชไทยนั้นต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ในทุก ๆด้าน ตั้งแต่การเสนอข้อมูเชิงบวกการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และการนำเสนอข้อมูลในกลุ่มข้าราชการที่มุ่งอุทิศการทำงานเพื่อสารธารณะโยชน์ ในการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวจะสามารถปรับภาพลักษณ์ในมุมมองของประชาชนในแง่คิดหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้นการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวยังจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ข้าราชการไทยเปลี่ยนแนวคิด และปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ศาสตราจารย์ ดร. สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในมุมมองของสังคม และการรณรงค์ในอดีตมักใช้ลักษณะทางลบ (Negative Campaign) ก่อให้เกิดความท้อแท้และไม่เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น การรณรงค์จากโครงการนี้เป็นการณรงค์ที่เน้นภาพบวกโดยเฉพาะการเดินตามรอยพระยุคลบาทเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีที่ทำหน้าหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนอย่างที่พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นแบบอย่าง ดังตัวอย่างข้าราชการที่ดีเช่น คุณวสุ โปษยนันทร์ ผู้ซ่อมแซมสต็อกก็อกธมที่ปรักหักพังท่ามกลางกับระเบิด คุณยุทธ บัวสุวรรณ พนักงานกวาดถนนเพื่อให้คนที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าพบถนนที่สะอาดตาสะอาดใจ คุณธรรมจักร สิงห์ทองที่ใช้หลักศาสนากล่อมเกลานักโทษเพราะเชื่อว่าสามารถสร้างคนได้ หรือการเลือกไปสอนในทุกสถานที่ของครูจุหลิงเมื่อที่นั้นไม่มีครู หรือการเลื่อนการแต่งงานของนายแพทย์ และแพทย์หญิงเพื่อช่วยเหลือคนประสบอุบัติเหตุ ซึ่งกรณีทั้งปวงล้วนเป็นตัวอย่างในการนำเสนอในทางบวกเพื่อเป็นแบบอย่างการประพฤติปฏิบัติตามรอยพระยุคคลบาทตามที่ได้เคยถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะเป็นข้าราชการที่ดี ศาสตราจารย์ ดร. สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ไม่เป็นเพียงการยกย่องเชิดชูบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติดีเท่านั้น บุคคลเหล่านี้ยังถือได้ว่าเป็บแบบอย่างให้ประชาชนทั่วไปเห็นถึงการดำเนินชีวิตที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน โดยสิ่งต่าง ๆเหล่านี้จะเป็นการหล่อหลอมจิตใจให้มีความโอบอ้อม เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผาสุขในบ้านเมืองอีกด้วย โดยการดำเนินงานในครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันจากทุกฝ่าย และมติจากส่วนราชการในการทำประชาสัมพันธ์ และโน้มน้าวให้เกิดแนวคิดการปฏิบัติงานให้ตามแนวพระราชดำรัชในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการประชาสัมพันธ์โครงการจะแบ่งเป็น 2ส่วน คือAbove the line จะประกอบด้วยภาพยนตร์ชุดโฆษณา 2 เรื่อง และเพลงประจำโครงการ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นความเป็นแบบอย่างในการปฏิติตัวตามรอยพระยุคลบาท เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โฆษณาในส่วนนี้เพื่อหวังสร้างความตระหนักรู้ และทัศนคติต่อสังคมในวงกว้างโดยการนำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ที่มีผู้ติดตามมากที่สุด ส่วนโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เป็น Below the line จะเป็นการตอกย้ำ และเตือนความทรงจำจากการรณรงค์ในช่วงแรกเพื่อให้มีพฤติกรรมตามมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการออกโรดโชว์ตามหน่วยงานที่วางแผนไว้แล้ว และหน่วยงานที่สมัครขอเข้ามาทำกิจกรรมร่วมด้วย โดยมีสื่อเต่อไปนี้ประกอบด้วย สื่อบุคคลเพื่อใช้ระดมหรืออบรมข้าราชการให้มีพฤติกรรมเป็นไปตามแผนการณรงค์อย่างกระตือรือร้น นอกจากสื่อบุคคลแล้วยังใช้สื่ออื่นๆ ในการเป็นสัญลักษณ์ตอกย้ำพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นสื่อจะติดตั้งอยู่โดยรอบข้าราชการ เช่น เสื้อ กระเป๋า สายยางรัดข้อมือ ที่ทับกระดาษ กล่องใส่ประดาษโน้ต หรือคลิ๊บหนีบกระดาษ โปสเตอร์ และรวมถึงพ็อกเก๊ตบุ๊คในฐานะคู่มือข้าราชการในการกระทำความดี ซึ่งสอดคล้องกับการรณรงค์ที่นำด้วยสื่อมวลชนเพื่อสร้างความตระหนักความสนใจ และตามด้วยสื่อบุคคลหรือโครงการเพื่อให้บรรลุไปสู่ขั้นสูงสุดคือการยอมรับ “ในการรณรงค์ครั้งนี้มีแผนงานที่จะช่วยดึงให้มีผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะข้าราชการในการพฤติกรรมตามเป้าหมายของโครงการหรืออย่างน้อยสามารถมีทัศนคติและการตระหนักรู้ในการดำเนินตามรายพระยุคลบาทตามที่ได้เคยถวายสัตย์ฏิญาณไว้ แม้ว่าส่วนใหญ่อาจไม่สามารถเปลี่ยนข้าราชการได้เนื่องจากข้าราชการเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม Laggard หรือรับนวัตกรรมได้ช้า แต่อย่างน้อยก็จะสามารถกระตุ้นคนกลุ่มนี้ให้รับรู้ได้บ้างแต่ต้องตอกย้ำย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ข้าราชการบางส่วนจะสามารถเปลี่ยนได้เกือบทันทีจากแผนรณรงค์เนื่องจากข้าราชกลุ่มนี้เป็นพวก Innovator และ Early adoptor ซึ่งพร้อมทุกเมื่อต่อการเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่มนี้สามารถอาศัยให้เป็นผู้นำในการผลักดันกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ล่าช้าให้พัฒนาเร็วขึ้น และผลการวิจัยในครั้งนี้ยังพบว่าความรู้สึกของประชาชนคนไทยที่มีต่อข้าราชการอยู่ในแง่ลบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทุจริต คอรัปชั่น การให้บริการด้านต่างๆ ที่ไม่มีมาตรฐาน จากตัวเลขพบว่า 16 ปี ที่ผ่านมาความเสียหายจากการฉ้อราษฎรบังหลวงมีตัวเลขสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท” ศาสตราจารย์ ดร. สุรพงษ์ กล่าวในที่สุด
สำหรับสื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดได้ที่ นายจตุพล ศิริเดช หรือ นายธนกร นพกิจกำจร
Tel. 0-2736-1728 ต่อ 313 — 314 Mobile. 0-81423-8606 , 0-81870-1021

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ