๑๒ เม.ย. เสียชีวิต ๕๙ ราย สะสม ๒ วัน ๑๐๔ ราย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 16, 2008 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๑ แถลงสถิติอุบัติเหตุทางถนนในวันที่ ๑๒ เม.ย. ๒๕๕๑ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ๗๔๓ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๕๙ ราย บาดเจ็บ ๘๕๔ ราย รวมอุบัติเหตุสะสม ๒ วัน(๑๑ — ๑๒ เม.ย. ๒๕๕๑) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม ๑,๒๒๐ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๑๐๔ ราย บาดเจ็บ ๑,๔๑๑ ราย พร้อมสั่งกำชับจังหวัดปรับแผนจุดตรวจ ประสานอำเภอ และอปท. เข้มงวด ตรวจจับกลุ่มวัยรุ่นที่ขับขี่รถจักรยานยนต์รวมกลุ่มกันเล่นน้ำ รวมถึงรถกระบะที่บรรทุกคนเล่นน้ำตามถนน สายต่างๆ ด้าน มท.๑ สั่งเพิ่มการเฝ้าระวังเข้มข้นในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน และถนนสายรอง โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการ ทางสังคม และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อลดสถิติอุบัติเหตุให้น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา
นายชัยสวัสดิ์ กิติพรไพบูลย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธานแถลงข่าวสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๑ ประจำวันที่ ๑๒ เม.ย. ๒๕๕๑ ซึ่งรวบรวมโดยศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๑ ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ๗๔๓ ครั้ง มากกว่าปี ๒๕๕๐ (๖๓๒ ครั้ง) จำนวน ๑๑๑ ครั้ง ร้อยละ ๑๗.๕๖ มีผู้เสียชีวิต ๕๙ ราย มากกว่าปี ๒๕๕๐ (๕๗ ราย) จำนวน ๒ ราย ร้อยละ ๓.๕๑ บาดเจ็บ ๘๕๔ ราย มากกว่าปี ๒๕๕๐ (๗๒๐ ราย) จำนวน ๑๓๔ ราย ร้อยละ ๑๘.๖๑ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเกิดจากเมาสุรา ร้อยละ ๔๑.๕๙ รองลงมา คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ ๒๒.๒๑ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๑.๐๗ อุบัติเหตุส่วนใหญ่ เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ ๓๔.๔๕ และถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ ๓๑.๗๖ จุดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ทางตรง ร้อยละ ๕๗.๓๔ สำหรับช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลากลางคืน ร้อยละ ๖๘.๑๐ โดยเฉพาะช่วงพลบค่ำ เวลา ๑๖.๐๑ — ๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๓๑.๔๙ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมีอายุระหว่าง ๓๐ — ๓๙ ปี คิดเป็นร้อยละ ๒๑.๘๒ รองลงมา อายุระหว่าง ๑๕ — ๑๙ ปี ร้อยละ ๑๖.๓๔ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ๓๘ ครั้ง รองลงมา ได้แก่ เชียงราย ๒๘ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ และนครราชสีมา จังหวัดละ ๕ ราย รองลงมา ได้แก่ กำแพงเพชร ๓ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต รวม ๓๗ จังหวัด สำหรับจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด ได้แก่ เชียงใหม่ ๕๙ ราย รองลงมา ได้แก่ เชียงราย ๓๐ ราย ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีการจัดตั้งจุดตรวจ รวม ๓,๐๑๗ จุด มีผู้ปฏิบัติงาน รวม ๘๘,๒๕๘ คน เฉลี่ยจุดตรวจละ ๒๙ คน ซึ่งได้มีการเรียกตรวจยานพาหนะ ๘๒๐,๒๓๔ คัน พบผู้กระทำผิด รวม ๔๗,๖๔๕ คัน ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีเนื่องจาก ไม่มีใบขับขี่มากที่สุด ๑๗,๐๐๘ คัน รองลงมา ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ๑๖,๙๘๕ คัน
อุบัติเหตุทางถนน สะสม ๒ วัน (วันที่ ๑๑ — ๑๒ เม.ย. ๕๑) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม ๑,๒๒๐ ครั้ง ผู้เสียชีวิต รวม ๑๐๔ ราย ผู้บาดเจ็บ รวม ๑,๔๑๑ ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ๖๑ ครั้ง รองลงมา เชียงราย ๕๖ ครั้ง จังหวัดที่จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ๗ ราย รองลงมา ได้แก่ นครราชสีมา และกรุงเทพฯ จังหวัดละ ๖ ราย จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต รวม ๒๘ จังหวัด สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ๘๑ ราย รองลงมา ได้แก่ เชียงราย ๕๘ ราย และนครศรีธรรมราช ๔๖ ราย
นายชัยสวัสดิ์ กล่าวต่อไปว่า วันที่ ๑๓ เม.ย. ของทุกปี เป็นวันที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด และจากสถิติอุบัติเหตุในช่วง ๒ วันที่ ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ โดยมีสาเหตุมาจากเมาแล้วขับ ศปถ. จึงขอได้สั่งกำชับให้จังหวัดพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงาน โดยประสานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นการตั้งจุดตรวจบนเส้นทางสายรองในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน เพื่อเข้มงวดตรวจจับกลุ่มวัยรุ่นที่ขับขี่รถจักรยานยนต์รวมกลุ่มกันเล่นน้ำ รวมถึงรถกระบะที่บรรทุกคนเล่นน้ำตามถนนสายต่างๆ โดยเฉพาะคนขับรถที่ดื่มสุราเป็นพิเศษ เนื่องจากหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที และหากตรวจพบพฤติกรรมเสี่ยงดังข้างต้น ขอให้ด่านตรวจหยุดพักการขับขี่รถ ณ จุดตรวจ จุดสกัด เพื่อป้องปรามและควบคุมมิให้ออกไปเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน ยังพบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ศปถ. จึงได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งมีประชาชนเดินทางไปเล่นน้ำสงกรานต์เป็นจำนวนมาก ให้เข้มงวดกวดขัน และเพิ่มจำนวนจุดตรวจโดยเฉพาะในบริเวณที่มีการเล่นน้ำ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ของจังหวัด รวมถึงเส้นทางสายรองเป็นหลัก ที่สำคัญ ได้สั่งกำชับไปยังจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และมีการเดินทางทางน้ำ ให้ตรวจสอบการบรรทุกผู้โดยสารเกินอัตราที่กำหนดของเรือโดยสาร รวมทั้งควรจัดเสื้อชูชีพให้เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสาร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติภัยทางน้ำ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ร.ต.อ.ดร. เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กวดขันการเมาสุราแล้วขับ การขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ที่เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางถนน พร้อมให้เพิ่มการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน และถนนสายรอง โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคม และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อลดสถิติอุบัติเหตุให้น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา และขอเตือนประชาชนที่ออกไปเล่นน้ำ ให้รักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เล่นอย่างสุภาพ หลีกเลี่ยงการใช้กระบอกหรือปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดใส่ผู้อื่น หรือยานพาหนะ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ เพราะอาจทำให้เสียหลัก และเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ รวมทั้งให้ระมัดระวังรถที่สัญจรบนท้องถนน สุดท้ายนี้ เนื่องจากสภาพอากาศในระยะนี้ มีความแปรปรวน มีลมกระโชกแรง และอาจมีฝนตกในบางพื้นที่ รวมถึงการเล่นสาดน้ำในช่วงสงกรานต์ ทำให้ถนนเปียกลื่น จึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนน เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่รถเป็นพิเศษ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ