TK ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ผลประกอบการ 2565 กำไร 367.1 ล้านบาท ประกาศปันผล 210 ล้านบาท มุ่งโตแบบลูกหนี้มีคุณภาพและยั่งยืน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 23, 2023 14:35 —ThaiPR.net

TK ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ผลประกอบการ 2565 กำไร 367.1 ล้านบาท ประกาศปันผล 210 ล้านบาท มุ่งโตแบบลูกหนี้มีคุณภาพและยั่งยืน

บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย รายงานผลประกอบการประจำปี 2565 มีกำไรสุทธิ 367.1 ล้านบาท ลดลง 22.2% จาก 471.8 ล้านบาท ในปี 2564 ประกาศจ่ายปันผล 210 ล้านบาท หรือ 0.42 บาท/หุ้น เผยเป็นการปันผลต่อเนื่องมา 20 ปี นับตั้งแต่บริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีเงินสดและเงินฝากอยู่ที่ระดับ 1,956 ล้านบาท D/E ณ ปี 2565 อยู่ที่ 0.14 เท่า ลดลงจาก 0.23 เท่า ในปี 2564 เงินสดพร้อมใช้ในการขยายตัวทางธุรกิจในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นได้โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่มอย่างน้อย 12 เดือน TK มุ่งเน้นธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งขยายพอร์ต "ทีเค รถแลกเงิน" จำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ธุรกิจใหม่ที่ TK นำร่องบริการ 10 จังหวัด เมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา เผยปี 2566 ปรับกลยุทธ์พร้อมเดินหน้า นำธุรกิจเช่าซื้อเติบโตโดยเน้นคุณภาพลูกหนี้เป็นหลัก ภายใต้บริบทใหม่กับเพดานดอกเบี้ยในประเทศ พร้อมขยายตลาดเช่าซื้อต่างประเทศ และเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานปี 2565 กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์แปรผันตามตลาด รวมทั้งจากปัจจัยภายนอก ทั้งจากเศรษฐกิจของประเทศและจากประกาศเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 โดยมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ออกประกาศ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับในวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงกับการดำเนินงานของบริษัทฯ ทั้งนี้ โดยรวม TK ดำเนินกิจการด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะการคงมาตรการที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและการควบคุมคุณภาพลูกหนี้มาโดยตลอด

การดำเนินงานที่ใช้การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงาน การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการดำเนินงานตั้งแต่บริการลูกค้าไปถึงส่วนงานหลังบ้าน และการบริหารต้นทุนทางการเงิน ช่วยให้ผลการดำเนินงานของ TK ในปี 2565 คงมีกำไรสุทธิ 367.1 ล้านบาท ลดลง 22.2% จาก 471.8 ล้านบาทในปี 2564 และรายได้รวม 1,947.8 ล้านบาท ลดลง 2.7% จาก 2,002.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.42 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 210 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 57.2 ของกำไรสุทธิ โดยจะปิดสมุดพักการโอนหุ้นเพื่อรับเงินปันผลในวันที่ 9 มีนาคม 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นี้เป็นการปันผลต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 20 นับตั้งแต่บริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2546 ด้านสถานะทางการเงิน TK มีเงินสดและเงินฝากอยู่ที่ระดับ 1,956 ล้านบาท สำหรับใช้เปิดขยายพอร์ตเช่าซื้อ ขยายบริการ "ทีเค รถแลกเงิน" จำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ TK เริ่มนำร่องบริการดังกล่าวตั้งแต่กลางปี 2565 ที่ผ่านมา รวมทั้งการขยายงานเติบโตพอร์ตเช่าซื้อในต่างประเทศ และบริการอื่น ๆ ที่ TK ได้รับใบอนุญาตมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล และธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย

"สำหรับในปี 2566 นี้ TK มีเป้าหมายที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นคุณภาพลูกหนี้เป็นหลัก และเน้นเติบโตแบบยั่งยืนในภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ โดยเฉพาะภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่ง TK มีความพร้อมในการขยายธุรกิจด้วยเงินสดของบริษัทฯ โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่มอีกอย่างน้อย 12 เดือน" นางสาวปฐมา กล่าว

ด้าน นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 4,158.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% จาก 3,949.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 จากนโยบายการขยายตัวเพื่อเพิ่มยอดการปล่อยสินเชื่อ ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ผ่านมา จนถึงไตรมาส 2 ปี 2565 เนื่องจาก TK คาดการณ์ว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จะประกาศควบคุมเพดานดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ปี 2565 ส่งผลให้ TK เน้นควบคุมการปล่อยสินเชื่อในประเทศ

"สำหรับการปรับตัวของผู้ให้บริการธุรกิจเช่าซื้อหลังการประกาศเรื่อง "ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565" เมื่อตุลาคม 2565 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 มกราคม 2566 ส่งผลให้ลูกค้าส่วนหนึ่งชะลอการซื้อในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้วถึง 10 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อรอความชัดเจนของรูปแบบสัญญาใหม่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเพดานดอกเบี้ยที่ลดลงในกลุ่มรถจักรยานยนต์และรถยนต์มือสอง รวมทั้งส่วนลดดอกเบี้ยหากมีการปิดบัญชีก่อนกำหนด ซึ่งอาจทำให้ความต้องการของลูกค้าส่วนหนึ่งชะลอลงในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนการปรับตัวของผู้ประกอบการนอกเหนือจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นแล้ว บางรายยังมีการลดค่าใช้จ่ายการตลาดและเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ผู้ให้บริการบางรายยังมีนโยบายในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยกับรายได้ที่ลดลงจากการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย และในปี 2566 TK คาดการณ์ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามากำกับธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ทุกบริษัทในประเทศไทย ซึ่งรายละเอียดยังไม่ชัดเจนว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีกฎระเบียบอย่างไรบ้าง" นายประพลให้ความเห็น

อนึ่ง บริษัทฯ เห็นความสำคัญของการมีสำรองที่เพียงพอ และไม่ได้ใช้สิทธิ์ผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ตามมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวของสภาวิชาชีพบัญชีของประเทศไทย ณ ปี 2565 TK มีสำรองจำนวน 344.4 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 7.0% และมี Coverage Ratio ที่ 109.8% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 371.6 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 7.1% และมี Coverage Ratio ที่ 120.5% ณ ปี 2565 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 6,558.3 ล้านบาท ลดลง 6.0% จาก 6,979 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 และมีหนี้สินรวม 800.5 ล้านบาท ลดลง 39.4% จาก 1,322 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ