จังหวัดลำพูน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ได้จัดพิธีถวายราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย"

ข่าวทั่วไป Friday March 3, 2023 14:43 —ThaiPR.net

จังหวัดลำพูน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ได้จัดพิธีถวายราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

จังหวัดลำพูน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ได้จัดพิธีถวายราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2566

จังหวัดลำพูน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ได้จัดพิธีถวายราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2566 เพื่อเทิดพระเกียรติ น้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านการช่างของพระองค์ ในวันที่ 2 มีนาคม 2566 ณ หอประชุม ที่ว่าการอำเภอเมืองลำพูน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยนายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธี

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน แนะแนวอาชีพ และแข่งขันฝีมือแห่งชาติครั้งที่ 1 ณ ลุมพินีสถาน และมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความเป็นช่างของคนไทย ความตอนหนึ่งว่า "ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้ายิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ- ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ- ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือซึ่งต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ- ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่ายการช่วยเหลือทั้งสามประการนี้จะต้องการทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า" พระองค์ได้ฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญ

จากกระแสพระราชดำรัชดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคม จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้ฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้จะผ่านมาถึง 53 ปี แล้ว ยังคงทันสมัยและนับวันจะทวีความสำคัญมายิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฎิบัติ ในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีฝีมือพัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมเศรษกิจอาเซียนและประชาคนโลก

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ท่านให้เป็น "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" พร้อมกับกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและเป็นการน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านช่าง รวมทั้งให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทย ให้มีความเป็นมาตรฐานยกระดับช่างสู่มาตรฐานสากล ในการจัดงานครั้งนี้ มีข้าราชการตุลาการ ทหาร ตำรวจ อัยการ สมาชิกเหล่ากาชาด องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมพิธี จำนวน 217 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ