ติดตามงานโยธา กทม. พบป้ายล้มหลังพายุหนักกระหน่ำ

ข่าวทั่วไป Thursday April 24, 2008 17:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--กทม.
ประชุมแนวดิ่งงานโยธาสำนักและเขต ติดตามงานหน่วย BEST การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง การจัดการป้ายโฆษณา และประสานสาธารณูปโภค รับรายงานพายุฤดูร้อนทำป้ายใหญ่ล้มหลายแห่งพร้อมสั่งการรื้อถอน ส่วนต้นไม้ล้มแต่ละเขตตัดแต่งเคลื่อนย้ายทันที ด้านการอนุญาตอาคารหารือแนวทางข้อสรุปสัปดาห์หน้า
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมแนวดิ่งระหว่างสำนักโยธากับหัวหน้าฝ่ายโยธาเขต โดยมีการติดตามการปฏิบัติงานของเขตในหลายประเด็น เช่น การรายงานการดำเนินงานของหน่วยบริการเร่งด่วน กทม. หรือหน่วย BEST การติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะตามโครงการ MOU เมืองปลอดภัยอุ่นใจทุกครอบครัว การตรวจสอบความไม่มั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และการประสานงานด้านสาธารณูปโภค
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้หัวหน้าฝ่ายโยธาดูแลเป็นพิเศษในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เนื่องจากช่วงนี้มีพายุฤดูแล้ง ฝนตก ลมกรรโชกแรง ซึ่งจากการรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาจะมีลักษณะดังกล่าวไปจนถึงกลางเดือน พ.ค. 51 ทำให้มีต้นไม้ ป้ายโฆษณาล้ม ส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ซึ่งให้หน่วยบริการเร่งด่วน กทม. หรือหน่วย BEST ของแต่ละเขต รวมถึงของสำนักต่างๆ เตรียมพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ แล้วให้มีระบบรายงานสถานการณ์ที่เป็นระบบและรวดเร็ว นอกจากนั้นยังให้ช่วยสอดส่องดูแลทรัพย์สินของทางราชการที่อาจมีผู้ลักลอบนำไปขายได้
สำหรับรายงานป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ล้มในพื้นที่เมื่อคืนที่ผ่านมา (23 เม.ย. 51) มีป้ายล้มที่เขตบางรัก บน ถ.สาทรเหนือ ทับรถยนต์เสียหาย เป็นป้ายบนดิน ขออนุญาตถูกต้องและมีวิศวกรรับรองความมั่นคงแข็งแรง แต่ลมแรงกว่าความต้านทางของป้าย จึงล้มพับลงมา ขณะนี้เขตบางรักได้สั่งการให้เจ้าของรื้อแล้ว ซึ่งไม่มีผู้ได้รับอันตรายจากเหตุดังกล่าว ส่วนที่เขตบางกะปิ เป็นป้ายในความดูแลของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นป้ายบนดิน ขนาด 14x16 เมตร เกิดเอียงแต่ยังไม่ล้ม ได้สั่งการให้รื้อถอนแล้ว นอกจากนั้นยังมีเหตุต้นไม้ล้มใน 12 เขต ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเขตได้เข้าจัดการตัดและเคลื่อนย้ายแล้ว ด้านปัญหาน้ำท่วมขังจากการรายงานมีจำนวน 10 จุดสามารถระบายได้ภายใน 30 นาที
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ กล่าวอีกว่า การหารือในครั้งนี้ยังมีประเด็นของการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารที่เกิดปัญหาความล่าช้าในการอนุญาต กระบวนการหรือขั้นตอนการอนุญาต การตรวจสอบติดตามการก่อสร้างตามแบบที่กำหนดให้ตรวจทุก 15 วัน การร้องเรียนจากประชาชนจากการขออนุญาตหรือแม้แต่การก่อสร้างอาคาร รวมถึงการจัดการด้านบุคลากรที่มีไม่เพียงพอกับภารกิจต่างๆ ของฝ่ายโยธาเขต ซึ่งกำหนดให้ประชุมหารือถึงข้อสรุปดังกล่าวในสัปดาห์หน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ