กิโยตินกฎหมาย บันไดขั้นสำคัญขจัดปัญหาการทุจริตของไทย

ข่าวทั่วไป Thursday May 25, 2023 16:51 —ThaiPR.net

กิโยตินกฎหมาย บันไดขั้นสำคัญขจัดปัญหาการทุจริตของไทย

ประเทศไทยมีกฎหมายจำนวนมากที่ออกมาบังคับใช้ เห็นได้จากการที่เรามีพระราชบัญญัติเกือบ 1,400 ฉบับ และมีกฎหมายลำดับรองอีกกว่า 100,000 ฉบับ ไม่นับรวมกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับอื่น ๆ อีก ในขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) แนะนำว่าแต่ละประเทศควรมีกฎหมายแค่ไม่เกิน 300 ฉบับ ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบันมีความซ้ำซ้อน มีกระบวนการและขั้นตอนที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน ทั้งที่ควรจะเป็นการสนับสนุน ซึ่งส่งผลต่อการกีดกันความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ซึ่งปัญหาของการขัดกันของกฎหมายภายในประเทศและความล้าสมัยของกฎหมายเป็นตัวฉุดที่สำคัญอันหนึ่ง เพราะการที่เรามีกฎระเบียบจำนวนมาก นอกจากจะฉุดรั้งทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพิ่มภาระต้นทุนมหาศาลแล้ว ยังทำให้กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งการบังคับใช้ก็เป็นไปอย่างไม่เสมอภาค เกิดสังคมสองมาตรฐานเลือกปฏิบัติ และสร้างเงื่อนไข ที่ส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชันไปทั่วทุกหัวระแหง และเมื่อมีกฎหมายจำนวนมาก ก็ต้องสร้าง ต้องขยายภาครัฐที่ใหญ่เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งปัจจุบันมีข้าราชการอยู่ในระบบมากกว่าสองล้านสองแสนคน และทำให้ในแต่ละปีภาครัฐต้องมีค่าใช้จ่าย ไปกับบุคคลากรเป็นจำนวนมาก

จึงเป็นที่มาของการที่ประเทศไทยต้องนำแนวทางของ การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Guillotine) หรือที่เรียกกันว่า "กิโยตินกฎหมาย" เพื่อทบทวน ปรับแก้โครงสร้างกฎหมายที่ล้าสมัย ที่ย้อนแย้งกัน ให้ทันต่อสถานการณ์ โดยทำ 4 ขั้นตอน คือ การปรับกฎหมายในเรื่องที่ล้าสมัย สร้างความไม่สะดวก สร้างภาระต่อการปฏิบัติ ให้ยกเลิกการใช้งาน กฎหมายที่มีลักษณะคล้ายกันรวมให้อยู่ในฉบับเดียวกัน ส่วนกฎหมายที่ดีอยู่แล้วดำเนินการต่อ และกฎหมายที่ยังไม่มี แต่จำเป็นต้องใช้ให้เข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบันก็ให้เขียนขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ที่ผ่านมามีการทดลองปรับแก้กฎหมายในโครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการ อยู่ภายใต้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน ในคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (Thailand's Simple and Smart License) โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย โดยมีคุณสก๊อต เจคอบ (Scott Jacobs) ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการด้าน Regulatory Reform ของ OECD และปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Jacobs, Cordova & Associates มีประสบการณ์ในการวางระบบการปฏิรูปกฎหมายในหลายประเทศ ทั่วโลกเป็นที่ปรึกษาโครงการ

ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้มีการทดลองนำกฎหมายที่ศึกษาทั้งสิ้น 1,094 กระบวนงาน จาก 16 กระทรวง 47 กรม โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Checklist โดยจะทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกระบวนงานใน 2 มิติ คือ 1. ด้านนิติศาสตร์: การทบทวนความจำเป็นทางกฎหมาย ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายฉบับนั้นอยู่หรือไม่ และ 2. ด้านเศรษฐศาสตร์: การทบทวนความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ โดยพิจารณาว่าการที่กฎหมายนั้นใช้บังคับ มีความคุ้มค่าเพียงพอกับทรัพยากรที่ได้รับหรือสูญเสียไปอย่างไร ซึ่งจากการศึกษาพบว่า หากมีการกิโยติน กฎหมายกว่า 1,000 กระบวนงานนี้ จะสามารถประหยัดต้นทุนภาคประชาชนและภาคธุรกิจได้ ถึง 133,816 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และสามารถนำเม็ดเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนในระบบเศรษกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่จะต้องเสียไปเช่นนี้

การปฏิรูปกฎหมาย นอกจากจะช่วยให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจประหยัดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังจะช่วยยกระดับการทำงานของภาครัฐในการลดโอกาสในการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นในขั้นตอนที่เกี่ยวกับการอนุมัติ - อนุญาต โดยการลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ลดเอกสาร เพิ่มความรวดเร็ว ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดต่อประสานงาน นักธุรกิจสามารถการดำเนินธุรกิจราบรื่น ไม่มีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งไม่มีช่องช่องโหว่ หรือโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะพบปะกับนักธุรกิจ เพื่อเจรจาต่อรองเรียกรับสินบนด้วย

ในส่วนของหน่วยงานของไทยที่ทำหน้าที่ด้านการต่อต้านการทุจริตก็ต่างก็ตอบรับกับแนวทางปฏิรูปกฎหมายของไทยในครั้งนี้ ว่าเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน อาทิ นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้ให้มุมมองไว้ว่า "กฎหมายต้องมีการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา ตามสังคมเปลี่ยนไป กฎหมายหนึ่งอาจจะเหมาะในยุคหนึ่ง เมื่อมาอีกยุคหนึ่งต้องยกเลิกกฎหมายเดิม เนื่องจาก ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับความเป็นสากล อาจส่งผลต่อการประเมินค่าดัชนี CPI ประเทศไทย"

เรื่องการปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Guillotine) นี้อาจฟังดูเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกฎหมายและระบบข้าราชการทั้งหมด หากทำได้สำเร็จ จะเป็นการปลดล็อกประเทศ และลดคอร์รัปชันได้ในที่สุด

โดย กองบรรณาธิการสื่อสารเพื่อยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช.

รายการอ้างอิง :

ชโยดม สรรพศรี และรัชพร วงศาโรจน. (2565). แนวคิดและหลักการของกระบวนการกิโยติน. เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาเพื่อเสริมสร้างพัฒนาขีดสมรรถนะเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ - การปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล. 20 มกราคม 2565.

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2562). Regulatory Guillotine ปฏิรูปกฎหมาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ. สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256204Knowledge03.aspx

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ). (2564). เศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ยาก หาก 'กิโยตินกฎหมาย'. สืบค้นจาก https://tdri.or.th/2020/12/regulatory-guillotine-part1/

อุทิศ บัวศรี. (2566). สัมภาษณ์. 26 เมษายน 2566.


แท็ก OECD  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ