กระดูกทับเส้นสะโพก อาการปวดร้าวลงขาที่มนุษย์ออฟฟิศต้องระวัง

ข่าวทั่วไป Thursday September 28, 2023 17:16 —ThaiPR.net

กระดูกทับเส้นสะโพก อาการปวดร้าวลงขาที่มนุษย์ออฟฟิศต้องระวัง

สำหรับใครที่เป็นมนุษย์ออฟฟิศ คงรู้จักอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือออฟฟิศซินโดรมเป็นอย่างดี แต่มีอีกหนึ่งอาการของโรคที่มักรุมเร้าคนที่ชอบนั่งท่าเดิมนาน ๆ เช่นกันนั่นคือ อาการปวดสะโพกร้าวลงขา หรือที่บางคนอาจเคยได้ยินว่าเป็นกระดูกทับเส้นสะโพก ลองมารู้จักอาการนี้ให้มากขึ้น และวิธีการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ตามไปดูกันเลย

มารู้จักเส้นสะโพกไซอาติก้า (Sciatica) กันก่อน

ในร่างกายของคนเรามีเส้นประสาทอยู่มากมาย แต่เส้นประสาทที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่างช่วงเอว พาดผ่านไปสะโพกด้านหลัง ต้นขาด้านหลัง น่อง ไปจนถึงเท้านั้น เรียกว่าเส้นประสาทไซอาติก้า หรือ Sciatica Nerve เรียกได้ว่าเป็นเส้นประสาทที่ยาวที่สุดในร่างกายและมีขนาดใหญ่ หากมีอะไรมากระทบหรือเบียดกดเส้นประสาทนี้ มักทำให้เกิดการบาดเจ็บ ระคายเคือง หรืออักเสบ จนเกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขา หรือ Sciatica Pain

สาเหตุของการปวดสะโพกร้าวลงขา

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เส้นประสาทนี้ได้รับการกระทบกระเทือน อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น จากภาวะกระดูกเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุจนไปกดทับเส้นประสาทไซอาติก้า หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นสะโพก หรือตามแนวที่เส้นประสาทวิ่งผ่าน จนทำให้เกิดอาการปวดหลังและร้าวลงขาไปตามแนวเส้นประสาทนี้ได้เช่นเดียวกัน

ใครเสี่ยงเป็นอาการ Sciatica Pain บ้าง

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นอาการปวดหลังหรือสะโพกร้าวลงขา ได้แก่ 

  • มนุษย์ออฟฟิศ หรือบุคคลที่นั่งทำงานเป็นระยะเวลานานโดยไม่ขยับเขยื้อนเปลี่ยนท่า หรือขยับตัวน้อย 
  • ผู้ที่ต้องยกของหนักเป็นประจำทุกวันติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ช่างภาพ ซึ่งต้องสะพายกล้องและเลนส์หลายอันติดตัวตลอดเวลา เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกิน
  • ผู้ที่เล่นท่าออกกำลังกายด้วยตัวเอง โดยไม่มีผู้ไกด์อย่างใกล้ชิด จนทำให้เคลื่อนไหวลำตัวในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง
  • สตรีตั้งครรภ์ ที่อาจไม่ได้รับคำแนะนำเรื่องการออกกำลังกายและการบริหารอย่างถูกวิธี

ลองสังเกต เรามีอาการ Sciatica Pain หรือไม่

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลังหรือสะโพกร้าวลงขา ไม่ว่าจะจากสาเหตุกระดูกหรือหมอนรองกระดูกทับเส้นสะโพก ลองสังเกตตัวเองดูว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่

  • อาการปวดเริ่มต้นบริเวณหลังช่วงล่าง เอว หรือสะโพก 
  • มีความปวดร้าวไปถึงก้น ช่วงขาด้านหลัง 
  • บางรายอาจร้าวไปถึงน่อง หรือข้อเท้า หรือนิ้วเท้า
  • บางรายอาจมีอาการชา รู้สึกเสียวซ่า บริเวณเท้าและนิ้วหัวแม่เท้าร่วมด้วย
  • ส่วนใหญ่มักปวดลงที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง แต่อาจมีบ้างรายปวดลงที่ขาทั้งสองข้างได้

การดูแลรักษาเพื่อบรรเทาอาการ Sciatica Pain 

  • ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต้นเหตุของกระดูกทับเส้นสะโพกและอาการอย่างละเอียด เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง
  • การใช้ยากลุ่ม NSAIDs หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการอักเสบ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxant) เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว หรือยาที่รักษาอาการปวดจากการที่มีกระแสประสาทผิดปกติ (Neuropathic Pain)
  • การใช้วิธีบริหารร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ถูกวิธีเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ หรือการรักษาทางกายภาพบำบัด การฝังเข็ม การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องช็อกเวฟ เป็นต้น
  • หากวิธีต่าง ๆ ไม่ได้ผล อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดกระดูกทับเส้นสะโพกเพื่อรักษาอาการอย่างได้ผลที่สุด ซึ่งมีทั้งการผ่าเปิด และการผ่าตัดส่องกล้อง ที่ทำให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเสี่ยงกับโรคที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่าลืมพยายามบริหารร่างกายและออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อไม่เป็นมนุษย์ออฟฟิศที่อมโรค และมีสุขภาพที่แข็งแรง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ