มส.ผส. - สสส. เปิดคลังความรู้ หนุนนวัตกรรมทางสังคมพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติถ้วนหน้า

ข่าวทั่วไป Monday October 9, 2023 16:58 —ThaiPR.net

มส.ผส. - สสส. เปิดคลังความรู้ หนุนนวัตกรรมทางสังคมพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติถ้วนหน้า

มส.ผส. - สสส. หนุนนวัตกรรมทางสังคมพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติ สร้างความคุ้มครองทางสังคม ขยายฐานภาษี-ปฏิรูประบบงบประมาณ สร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผลักดันบำนาญถ้วนหน้า พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสูงอายุ เพิ่มคุณภาพชีวิต สู่สังคมสูงวัยที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเปิดคลังความรู้ มส.ผส. และ สสส. ประจำปี 2566 หัวข้อ "การสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ สู่สังคมสูงวัยที่มีความสุขอย่างยั่งยืน" มุ่งพัฒนานวัตกรรมและงานนโยบายสาธารณะ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้าน รวมถึงการสร้างเครือข่ายและเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณะ ซึ่งจะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (complete aged society) และสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (super-aged society) โดยมีนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เป็นประธานในพิธีเปิด และ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภาวัย 85 ปี ปาฐกถาพิเศษ "สังคมสูงวัย สังคมของคนทุกวัย"

ดร.นพ.ภูษิต  ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2565 ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completed Aged Society) เมื่อมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ในไม่ช้านี้ และคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2576 เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 28 หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด สังคมไทยจึงอยู่ในสภาวการณ์ที่มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงสร้างอายุที่เปลี่ยนไป กระทบกับโครงสร้างของสังคมไทยโดยรวม ส่งผลต่อการยกระดับขีดความสามารถศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทั้งระดับมหภาคและระดับจุลภาค ได้แก่ ผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายได้ต่อหัวประชากร การออม การลงทุน งบประมาณของรัฐบาลและการคลัง ผลิตภาพแรงงานและการจ้างงาน ผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์และบริการด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงินและด้านสุขภาพ

ดร.นพ.ภูษิต  กล่าวต่อว่า  ผลการศึกษาวิจัย และงานวิชาการที่ผ่านมาของ มส.ผส. และ สสส. พบว่ามีบทเรียนสำคัญจากการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก และเป็นผลงานองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรม อาทิ กลไกการทำงาน ผลงานเชิงนวัตกรรม รูปแบบ เครื่องมือ และวิธีการทำงานต่าง ๆ ที่สามารถทำงานได้จริงในระดับพื้นที่ และเกิดการขับเคลื่อนระดับนโยบายได้ในเชิงประจักษ์ ซึ่งหากมีการรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ให้เป็นบทเรียนที่ดี จะสามารถเป็นตัวอย่างของการนำไปใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ตลอดจนเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่องค์กรหลักที่เกี่ยวข้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ พัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติและการสนับสนุนทำให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญถ้วนหน้า และมีอัตราการจ่ายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

"การขับเคลื่อนเพื่อการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ ถือเป็นความคุ้มครองทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ที่จะคำนึงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้านความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาการบริหารจัดการทางการคลังของระบบบำนาญแห่งชาติให้มีความเพียงพอและยั่งยืน ซึ่งจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการมีบำนาญถ้วนหน้า จะช่วยยกระดับและช่วยให้เกิดหลักประกันทางรายได้ในยามสูงอายุ โดยแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ ได้แก่ การขยายฐานภาษี และปฏิรูประบบงบประมาณให้จัดสรรอย่างรอบคอบ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเสนอและผลักดันแบบเป็นชุด (package) อาศัยแรงสนับสนุนจากสังคม นอกจากนี้ยังมีการออมเพื่อยามเกษียณ และการสร้างโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ แนวทางการพัฒนาทักษะ (Up skill, Re-Skill) เพื่อการส่งเสริมการจ้างงานและการสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน จะทำให้เกิดความมั่นคงทางรายได้ในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุไดอีกด้วย"ดร.นพ.ภูษิต กล่าว

ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่มีสุขอย่างยั่งยืนนั้น สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการหนุนเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย การเตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยสูงอายุ รวมถึงขับเคลื่อนให้เกิดเมืองน่าอยู่และเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ทั้ง 4 มิติ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และสภาพแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยใช้ข้อมูลความรู้จากงานวิชาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาขับเคลื่อนการดำเนนิงานในมิติต่าง ๆ เช่น  เช่น มิติด้านสุขภาพเช่น การสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพและชุดความรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ สนับสนุนการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม การเสริมความเข้มแข็งของร่างกายเพื่อป้องกันการผลัดตกหกล้ม มิติเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางรายได้ สร้างโอกาส เพิ่มทักษะ สร้างรายได้ มิติสังคม ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุ การเพิ่มพื้นที่ในการทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ เสริมทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี ระบบเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุและใช้ในกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ การจัดตั้งธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย มิติสภาพแวดล้อม การส่งเสริมให้เกิดการปรับสภาพแวดล้อม และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในที่พักอาศัย และสถานที่สาธารณะ ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่าย คาดหวังให้ระบบรองรับสังคมสูงวัย ที่ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาและสอดรับกับนโยบายภาครัฐ จะเกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมพฤฒพลังหรับผู้สูงอายุ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เช่น สอนทำของว่างและเครื่องดื่ม อย่างเมนูแซนวิชเพื่อสุขภาพ, สลัดโรล, สมูทตี้ ที่ให้ทั้งคุณค่าทางโภชนาการและความอร่อยที่เหมาะกับวัยผู้สูงอายุ สอนการทำยาดม ยาหม่องสมุนไพร สอนการแต่งรูป เพื่อการขายของออนไลน์ ซึ่งเป็นกิจกรรมเผยแพร่ความรู้และทักษะการใช้โทรศัพท์ และการใช้งานแอปพลิเคชันตกแต่งรูปภาพ ที่เหมาะแก่ผู้สูงวัยเริ่มตั้งแต่การถ่ายภาพ และการตกแต่งภาพถ่าย สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ