เช็คอย่างไรว่า คุณเป็นภาวะ burn out หรือ จริงๆ คุณแค่ ขี้เกียจ??

ข่าวทั่วไป Thursday November 2, 2023 11:35 —ThaiPR.net

เช็คอย่างไรว่า คุณเป็นภาวะ burn out หรือ จริงๆ คุณแค่ ขี้เกียจ??

คุณเคยสับสนในตัวเองไหม ?ทุก ๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมาจะไปทำงาน สภาวะทางอารมณ์และความรู้สึกที่เป็น เป็นอาการของ burn out หรือจริง ๆ เราแค่ขี้เกียจกันแน่ ?

ปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน นั่นก็คือ "ภาวะ burn out" หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และจิตใจที่เกิดจากการเผชิญกับความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานาน ๆ มักเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานหนัก มีภาระหน้าที่ที่มากเกินไป มีความคาดหวังจากบุคคลอื่นสูง หรือขาดการสนับสนุนจากผู้อื่นจนเกิดอาการทางร่างกาย เช่น สมาธิลดลง อารมณ์ไม่ดี มุมมองต่อตนเองแย่ลง จนเกิดผลกระทบต่อการทำงานและความสัมพันธ์

อาการสามารถแบ่งได้ 3 ด้าน

  • Emotional Exhaustion ความเครียดทางอารมณ์ คืออารมณ์ความรู้สึกเหนื่อย เพลีย อ่อนแรง อ่อนล้า ไม่อยากปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน ไม่อยากการจัดการปัญหาเพราะความอ่อนเพลียที่เกิดขึ้น
  • Depersonalization คือทัศนคติและพฤติกรรมเชิงลบที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นการแยกตัวจากสังคม ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์ รู้สึกตนเองแปลกแยกจากคนอื่น และความรับผิดชอบต่องานลดลง
  • Reduced Personal Achievement การประเมินตนเองเชิงลบ สงสัยและไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง รวมถึงทักษะในการเผชิญปัญหาลดลง
  • แยกความต่างกันสักนิด !!

    ในทางการแพทย์ ภาวะ burn out มักมีผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ
    ในขณะที่ "ความขี้เกียจ" มักส่งผลต่อแค่ความตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่างเท่านั้น

    อาการของภาวะ burn out มักมีอาการบ่งชัอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่

    • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
    • เบื่อหน่าย หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ
    • ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
    • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
    • ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและครอบครัวแย่ลง
    • มีปัญหาในการนอนหลับ รับประทานอาหาร
    • ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ

    การป้องกันการเกิดภาวะ burnout

  • โดยองค์กร
    a. ปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน และเนื้อหาของงานให้เหมาะสมกับพนักงาน
    b. จัดตารางการทำงานและการใช้ชีวิตให้เหมาะสม (work-life balance)
    c. พัฒนาหัวหน้างานให้เป็นผู้นำที่ดี
    d. ให้รางวัลเป็นสิ่งจูงใจ โดยหลีกเลี่ยงการให้เป็นเงิน
    e. เฝ้าระวังและสังเกตภาวะ burnout ในพนักงาน
    f. จัดตั้งหน่วยงานที่คอยให้คำปรึกษาด้านจิตใจ
    g. พัฒนาจุดแข็งของพนักงาน
    h. จัดตั้งกลุ่มให้การสนับสนุนพนักงาน
  • โดยตัวพนักงานเอง
    a. ปรับการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หาเวลาพักผ่อน
    b. ฝึกการมีสติรู้ตัว
    c. ประเมินและสังเกตความคิด อารมณ์ พฤติกรรมตนเองสม่ำเสมอ
    d. จัดการเวลาทำงานของตนเอง ให้มีเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนที่ชัดเจน
    e. มองหาคนที่จะพูดคุยเรื่องไม่สบายใจได้ หรือกลุ่มคนที่คอยเป็นกำลังใจ
  • ภาวะ burnout เป็นเรื่องไม่ไกลตัว หากรู้ตัวหรือคนรอบข้างสังเกตได้เร็ว ทำให้การจัดการทำได้ง่าย อาจเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อตนเอง ต่องาน จัดการเวลาในการทำงานและพักผ่อนให้เหมาะสม หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกไปทำกิจกรรมที่ชอบ พบปะเพื่อนที่สนิทใจ พูดคุยและรับแรงสนับสนุนกำลังใจจากคนรอบข้างหรือครอบครัว คุยกับหัวหน้างานในเรื่องที่รู้สึกอึดอัด เพื่อช่วยกันจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น จะช่วยให้อาการบรรเทาลงได้ แต่หากทำตามวิธีดังกล่าวแล้วยังรู้สึกไม่ดี มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เริ่มมีอารมณ์หงุดหงิดที่คุมได้ยาก จัดการปัญหาไม่ได้ แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

    แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล Bangkok Mental Health Hospital : BMHH

    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ