ผู้บริหารฟอร์ดชี้ นโยบายไทยมีวิสัยทัศน์ ส่งไทยก้าวสู่ “ดีทรอยท์แห่งเอเชีย”

ข่าวทั่วไป Monday June 13, 2005 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--โอกิววี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
วันนี้ มร. สตีเฟน บีกัน รองประธานฝ่ายบริหารรัฐกิจระหว่างประเทศ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ได้กล่าวถึงผลกระทบของการเปิดการค้าเสรีที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ในงานสัมมนา “เอเชียน คอร์เปอเรท คอนเฟอเรนซ์” ครั้งที่ 15 (ASIAN CORPORATE CONFERENCE)
มร. สตีเฟน ได้อภิปรายหัวข้อหลักเรื่อง “การเปิดการค้าเสรีและการลงทุนในธุรกิจหลักของเอเชียตะวันออก เฉียงใต้” (Achieving Trade Liberalization and Drawing Investment in Southeast Asia’s Key Sectors) โดยกล่าวว่า วิสัยทัศน์ผู้นำของไทยเห็นได้ชัดเจนจากการที่ประเทศไทยตัดสินใจไม่ใช้นโยบายรถยนต์แห่งชาติ แต่ใช้นโยบายเปิดแทน เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างยั่งยืน
“วันนี้ นโยบายเปิดของไทยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ประสพความสำเร็จอย่างงดงาม และประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ “ดีทรอยท์แห่งเอเชีย” แล้ว รัฐบาลไทยได้สร้างบรรยากาศการลงทุนเสรี ซึ่งรวมถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบการถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ และการมอบสิทธิประโยชน์ที่ดีทางเศรษฐกิจ”
“นโยบายนี้ดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ทุกราย ซึ่งรวมถึงบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ให้เข้ามาลงทุนในไทย การมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้าด้านการค้าระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์ส่งออกยานยนต์สู่ทั่วโลก และมีตลาดภายในที่โตมากถึงระดับ 650,000 คัน พร้อมระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงานและบริการโลจิสติกส์ที่ดี มีอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ที่เข้มแข็ง และมีพนักงานที่มีทักษะจำนวนมาก” มร. สตีเฟน กล่าว
การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นในหัวข้อ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขาขึ้น: การขยายตัวของภูมิภาคท่ามกลางยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของเอเชีย” (Southeast Asia Rising: a Regional Booming Among Asia’s Economic Giants) โดยมีฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานีเป็นหนึ่งในบริษัทผู้สนับสนุนการจัดงาน
ฟอร์ดมีความมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในระยะยาว ซึ่งเห็นได้จากการลงเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก อาทิ ในเดือนตุลาคม 2546 มร. บิล ฟอร์ด ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ได้ประกาศเพิ่มเงินลงทุนอีก 1 เท่าตัวที่โรงงานบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอเอที โดยได้จัดสรรอีก 500 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับโครงการรถยนต์ใหม่ๆ และขยายกำลังการผลิต ซึ่งในไตรมาสที่ 1 ปี 2548 เอเอที ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป หรือ CBU อันดับ 1 สู่กว่า 130 ประเทศทั่วโลก
ฟอร์ดยังได้เลือกจัดตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยพัฒนาบุคลากรในประเทศได้มาก” มร. สตีเฟน กล่าว
และเสริมว่า “นอกจากเชื่อว่าประเทศไทยเป็นดีทรอยท์แห่งเอเชียแล้ว อุตสาหรกรรมยานยนต์ไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมากในอนาคต ความสำเร็จของฟอร์ดในไทย มีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของฟอร์ดในเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ฟอร์ดไม่ยอมพลาดโอกาสจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในจีน เรามองว่าอาเซียนก็มีความสำคัญเท่ากัน เราจะไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง แต่ฟอร์ดมองเห็นภาพชัดเจนว่า เราต้องประสพความสำเร็จให้เท่าเทียมกันในตลาดที่เติบโตมากๆ ซึ่งได้แก่ จีน อาเซียน และอินเดีย“
“เมื่อเรามองแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ฟอร์ดได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลไทยใน 2 ด้าน คือนโยบายเอทานอลแห่งชาติ และโครงการอีโคคาร์ ซึ่งเราเชื่อว่าประเทศไทยมีข้อได้เปรียบสู่การก้าวขึ้นเป็นศูนย์เทคโนโลยีเอทานอลและศูนย์การผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ฟอร์ดกำลังศึกษาแผนการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตใหม่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสสูง
“การมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น นโยบายยานยนต์ไทย ไม่ควรให้บริษัทใดเป็นเจ้าตลาดแต่รายเดียว ขณะที่มีเพียงผู้ผลิตรถยนต์บางราย สนับสนุนการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงเอทานอลในไทย ฟอร์ดได้ประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทยในการผลิตรถยนต์ที่ใช้เอทานอล E20 (ประกอบด้วยเอทานอลจากแหล่งพืชธรรมชาติ 20% และน้ำมันเบนซิน 80%) เราวางเป้าหมายที่จะช่วยทำให้ไทยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งศูนย์กลางชั้นนำด้านเทคโนโลยีเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ๆ ในเอเชีย และลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบไปพร้อมกัน” มร. สตีเฟน กล่าวสรุป
รายละเอียดเพิ่มเติม
พอลลีน คี
โทร. 0 2686 4319
อีเมล์ pkee@ford.com
นที ศาสตร์ยังกุล
โทร. 0 2 686 4000 ต่อ 4635
อีเมล์ nsastyou@ford.com--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ