บพท.สานพลังภาคีพัฒนากลไก-ระบบนิเวศน์ข้อมูลเมือง กรุยทางปั้นเมืองน่าอยู่เมืองอัจฉริยะ

ข่าวทั่วไป Monday November 27, 2023 14:45 —ThaiPR.net

บพท.สานพลังภาคีพัฒนากลไก-ระบบนิเวศน์ข้อมูลเมือง กรุยทางปั้นเมืองน่าอยู่เมืองอัจฉริยะ

ธนาคารโลก ชี้การพัฒนาเมืองน่าอยู่ประเทศไทย ต้องตอบโจทย์ 3 เรื่อง กระจายความเจริญ-ลดเหลื่อมล้ำ-เติมความสามารถการแข่งขัน ขณะที่สภาพัฒน์กำหนดคุณลักษณะเมืองน่าอยู่พึงประสงค์ 4 ประการ ชีวิตปลอดภัย-ปลอดมลภาวะ-มีภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลง-มีความยืดหยุ่น ส่วน บพท. เดินหน้าปิดทองหลังพระ สานต่อพลังความรู้ พลังภาคี สร้างเมืองน่าอยู่ยั่งยืน บนความทั่วถึง-เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบข้อมูลเมือง

นายขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารโลกผู้รับผิดชอบประเทศไทย กล่าวถึงข้อค้นพบ ความท้าทายและโอกาสของเมืองในการยกระดับเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาดสำหรับประเทศไทย ในงานสัมมนา "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยระบุว่า ธนาคารโลกทำงานกับหลายประเทศรวมทั้งรัฐบาลไทย และค้นพบว่า โจทย์หลักของการยกระดับเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด หรือ Livable & Smart City มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล่ำ และความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งพบว่าโจทย์ทั้ง 3 ประการดังกล่าวยังแก้ไม่ตก เนื่องจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ถูกกระจายออกไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมืองที่มีความพร้อม ขณะที่เรื่องของความเหลื่อมล้ำ มีข้อมูลหนึ่งที่เห็นแล้วก็ตกใจเหมือนกัน หมายถึงว่า ปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทุกจังหวัดผลิตนักศึกษาออกมา แต่ปรากฏว่าไม่มีงานจริงให้ทำ ทั้งที่มีการลงทุนกับเรื่องทุนมนุษย์แต่ไม่สามารถใช้ทุนมนุษย์ให้เต็มที่ เพราะความกระจุกตัวของงานที่ดีอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนเรื่องขีดความสามารถของการแข่งขันในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Go Green สำหรับประเทศไทยก็ยังคงมีขีดจำกัดอยู่มาก

โอกาสเดียวกันนี้ น.ส.ชณกช ชสิธภนญ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับเมืองในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งใช้อยู่ตอนนี้ กำหนดเป้าหมายหลักไว้ 3 เรื่องคือ เรื่องการเติบโตในภูมิภาค โดยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆเพิ่มมากขึ้น เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเน้นให้เกิดการกระจายความเจริญ กระจายการจ้างงานไปสู่ภูมิภาค และเรื่องการพัฒนาเมือง ที่มุ่งให้มีการพัฒนาเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน มีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย

"คุณลักษณะเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืนที่เราต้องการให้เกิดขึ้น มีอยู่ 4 ประการคือ1).ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2).สิ่งแวดล้อมสะอาดไม่มีมลพิษ ทรัพยากรธรรมที่สมบูรณ์ 3).ความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลง เมืองที่ล้มแล้วสามารถลุกขึ้นได้ไว และ 4).ความยืดหยุ่น"

นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานยั่งยืน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าววว่า ปัจจุบันนี้ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในจังหวัดสระบุรี มีความตื่นรู้และตื่นตัวในการทำให้จังหวัดสระบุรี เป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ สอดคล้องกับคุณลักษณะพึงประสงค์ของ สศช. ด้วยการร่วมมือกับภาควิชาการ โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้ามามีบทบาทหลักในการเชื่อมโยงพลังความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม ของสถาบันอุดมศึกษา เข้ากับพลังภาคีในพื้นที่

"กลไกการขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรี สู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนบนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม โดยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เราจะเริ่มจากกลุ่มธุรกิจซีเมนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดสระบุรีมากที่สุด โดยรีไซเคิลพลังงานจากกระบวนการผลิตซีเมนต์ให้เป็นพลังงานสะอาด พัฒนาอุตสาหกรรม สีเขียว นำเอาวัสดุเหลือใช้กลับมาหมุนเวียน รณรงค์ให้มีการทำเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ และเพิ่มพื้นที่สีเขียว

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่งานพัฒนาความยั่งยืนของเมืองน่าอยู่ เมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ซึ่ง บพท. มีบทบาทในการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ได้รับการตอบสนอง และถูกต่อยอดขยายผลในวงกว้างมากขึ้น โดยทุกวันนี้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ซึ่งเป็นกลไกกำหนดนโยบายและกำกับการทำธุรกรรมดิจิทัล ได้เข้ามาร่วมใช้งานวิจัยของเรา แล้วก็เรียนรู้ไปด้วยกัน

"เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งฝ่ายกำหนดนโยบาย และฝ่ายปฏิบัติงาน ในการที่จะผลักดันเมืองเข้าไปสู่เมืองน่าอยู่ได้อย่างชาญฉลาด โดยเรามีโอกาสนำเอาชุดข้อมูลพร้อมใช้ที่ประมวลมาจากนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา เข้าไปผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองบนความสอดคล้องกับบริบท และวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่"

รองผู้อำนวยการ บพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า บพท. ในฐานะองค์กรบริหารจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ ที่มุ่งตอบโจทย์แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนพัฒนากลไกกระบวนการพัฒนาเมือง พยายามทำให้เกิดความทั่วถึง เท่าเทียมกันของโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ และนวัตกรรม

"เราพยายามสร้างระบบนิเวศน์ของกลไกกระบวนการพัฒนาเมือง ด้วยฐานข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรม โดยทำให้ระบบข้อมูลของเมือง เป็นระบบข้อมูลแบบเปิด หรือ Open City Data Platform ซึ่งมีหน่วยงานองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล และคนในพื้นที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นเหมือนงานปิดทองหลังพระ เป็นงานที่ยาก แต่สามารถทำให้สำเร็จได้ ถ้าทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ