SCB WEALTHหนุนเร่งลงทุนรับแผนการออมและสิทธิประโยชน์ทางภาษีโค้งสุดท้ายก่อนจบปีแนะกระจายพอร์ตลงทุนทั้งหุ้นไทยและสหรัฐฯ โอกาสสร้างผลตอบแทนดีในปีหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 22, 2023 14:11 —ThaiPR.net

SCB WEALTHหนุนเร่งลงทุนรับแผนการออมและสิทธิประโยชน์ทางภาษีโค้งสุดท้ายก่อนจบปีแนะกระจายพอร์ตลงทุนทั้งหุ้นไทยและสหรัฐฯ โอกาสสร้างผลตอบแทนดีในปีหน้า

SCB WEALTH หนุนนักลงทุนเร่งลงทุนในกองทุน RMF-SSF และ Thai ESG เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในสัปดาห์สุดท้ายส่งท้ายปี แนะกระจายพอร์ตลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มองตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีปัจจัยบวกสนับสนุนเดินหน้าสร้างผลตอบแทนต่อเนื่องได้ ตลาดคาดปีหน้า Fed มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 3 ครั้ง ส่งผลบอนด์ยิล ลดลงอย่างรวดเร็ว หนุนบริษัทจดทะเบียนสร้างผลกำไรดีขึ้น คาดว่า เม็ดเงินจาก money market ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และสถิติทุกครั้งที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย ตลาดหุ้น S&P500 จะทำผลงานได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ส่วนตลาดหุ้นไทย มีมูลค่าหุ้นค่อนข้างถูกมาก อยู่ระหว่างรอเงินลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะไหลกลับเข้ามา จากปัจจัยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทย ที่เริ่มแคบลง คาดว่าเงินลงทุนจะไหลกลับเข้ามาทั้งในตลาดหุ้น และตราสารหนี้ ในปีหน้า

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายสำหรับการลงทุนในกองทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ในปี 2566 ขอแนะนำนักลงทุนที่มีรายได้ ต้องเสียภาษี ให้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) และกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ตามสิทธิที่มี เพื่อลดหย่อนภาษีตามฐานภาษีของแต่ละบุคคล ฐานภาษีขอแต่ละบุคคล ทั้งยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน เมื่อลงทุนครบตามกำหนดเงื่อนไข ซึ่งการลงทุนในกองทุนดังกล่าวเป็นการสร้างวินัยการออม เพื่อสร้างฐานะทางการเงินที่มั่นคง และมั่งคั่งในอนาคต หรือในวัยเกษียณ

"การลงทุนควรมีการกระจายความเสี่ยงในหลากหลายสินทรัพย์ เช่น กองทุน RMF และ SSF สามารถเลือกลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้ ส่วน ThaiESG ลงทุนเฉพาะหุ้นและตราสารหนี้ไทยที่เข้าเกณฑ์ ESG เพื่อให้พอร์ตลงทุนมีเสถียรภาพ และลดความผันผวนได้ "

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย มีมูลค่าหุ้นค่อนข้างถูกมากเมื่อเทียบกับในอดีต แต่กำลังอยู่ระหว่างรอเงินลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะไหลกลับเข้ามา จากปัจจัยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทย ที่เริ่มแคบลง ที่ทำให้ค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าจะส่งผลให้เงินลงทุนจะไหลกลับเข้ามาทั้งในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นในปี 2567

ส่วนตลาดต่างประเทศ ที่เหมาะสำหรับการลงทุนใน RMF - SSF ในช่วงเวลานี้ ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีปัจจัยบวกสนับสนุนหลายประการ ประเด็นหลัก ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่หยุดขึ้นแล้ว และมีแนวโน้มจะปรับลดลงในปี 2567 โดย Fed Dot Plot คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะปรับลดประมาณ 3 ครั้งในปีหน้า ขณะที่ตลาดคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้ง ส่งผลสะท้อนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) ของสหรัฐฯ ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ดีขึ้น เราจะได้เห็นการปรับเพิ่มประมาณการผลประกอบการของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดขึ้นต่อเนื่อง

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (soft landing) โดยพิจารณาเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจ พบว่า ภาคบริการ และ การจ้างงาน ยังมีตัวเลขที่ออกมาดูดี เป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้ว่าภาคการผลิตจะหดตัวก็ตาม ในส่วนของเม็ดเงินลงทุน ปัจจุบันพบว่านักลงทุนรายย่อย ยังลงทุนอยู่ในตลาดเงิน (money market) ค่อนข้างมาก ขณะที่นักลงทุนสถาบันเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งโดยปกติ การเคลื่อนย้ายเงินทุนของรายย่อยจะช้ากว่านักลงทุนสถาบัน ดังนั้น ถ้าตัวเลขต่างๆ ดีขึ้น เงินเฟ้อทยอยปรับเข้าสู่กรอบนโยบาย เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินของนักลงทุนรายย่อยจาก money market ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นสหรัฐฯเพิ่มเติมได้ และเมื่อพิจารณาข้อมูลในอดีต จะเห็นว่าว่า ทุกครั้งที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย ในช่วง 12 เดือนหลังจากนั้น หุ้นสหรัฐฯ นำโดยตลาดหุ้น S&P500 จะทำผลงานได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

ปัจจัยเสี่ยงสำหรับการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่ควรระมัดระวัง คือ ประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีในช่วงปลายปี 2567 เนื่องจากทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง จะมีเรื่องนโยบายที่ต้องจับตามอง ในกรณีที่พรรครีพับลิกันได้ชัยชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้คะแนนเสียงมากขึ้น ภาพนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อาจจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน เป็นในลักษณะAggressive มากขึ้น เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นช่วงที่ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก่อนหน้านี้ รวมทั้งเราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับนโยบายด้าน ESG ด้วย ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยที่ตลาดต้องระมัดระวังความผันผวนที่จะเกิดตามมา ขณะเดียวกันก็ต้องจับตา การเลือกตั้งในพื้นที่อื่น เช่น ไต้หวัน ที่ต้องติดตามเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เกิดความผันผวนตามมาได้

สำหรับกองทุนที่แนะนำ ประเภท RMF และ SSF ในส่วนของกองทุนหุ้นสหรัฐฯ ได้แก่ SCBRMS&P500 ที่มีความเสี่ยงระดับ 6 หรือเสี่ยงสูง และ SCBS&P500-SSF ที่มีความเสี่ยงระดับ 6 เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายลงทุนหุ้นสหรัฐฯ หลากหลายกลุ่มธุรกิจ ด้วยการลงทุนผ่านกองทุนดัชนีที่ลงทุนใน 500 บริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ อ้างอิงดัชนี S&P 500 กองทุน SCBRMNDQ(A) ที่มีความเสี่ยงระดับ 6 และกองทุน SCBNDQ-SSF ที่มีความเสี่ยงระดับ 6 ที่ลงทุนผ่านกองทุนดัชนีหุ้น100บริษัทในสหรัฐฯ โดยอ้างอิงดัชนี NASDAQ 100 ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ส่วนกองทุน RMF สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายพอร์ตบางส่วนลงทุนในหุ้นไทย แนะนำกองทุน SCBRM4 ที่มีความเสี่ยงระดับ 6 ลงทุนในหุ้นไทยปัจจัยพื้นฐานดี และมีสภาพคล่องสูง และกองทุน SSF แนะนำ SCBLT1 -SSF ที่มีความเสี่ยงระดับ 6 มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพ 30% และลงทุนในหุ้นไทย ที่มีนโยบายปันผลสม่ำเสมอ 70% ทางด้านกองทุน Thai ESG แนะนำ SCBTM ที่มีความเสี่ยงระดับ 5 คือเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง เป็นกองทุนผสม ที่ลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ไทยที่ยั่งยืนแบบยืดหยุ่นตามจังหวะของตลาด

สำหรับเงื่อนไขการลงทุน RMF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ ได้แก่ กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี แต่เว้นได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน ไม่ขายคืนหน่วยลงทุนจนกว่าจะมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม ลงทุนปีไหนได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีนั้น

ส่วนกองทุน SSF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับ กองทุน RMF, PVD, กบข., ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ กอช. จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ไม่มียอดซื้อขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องทุกปี แต่ต้องถือครอง 10 ปี นับจากวันซื้อ (แบบวันชนวัน)

นอกจากนี้ กองทุน ThaiESG สามารถนำยอดซื้อลงทุน ไปหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่นับรวมกับวงเงิน 500,000 บาท จากกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ ทั้ง กองทุน SSF, RMF, PVD, กบข., ประกันชีวิตแบบนำนาญ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ กอช. ไม่มียอดซื้อขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องทุกปี โดยต้องถือครอง 8 ปี แบบจากวันที่ซื้อ

คำเตือน

  • กองทุนรวมนี้มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุน กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน รวมถึงควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตนและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้
  • เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมเพิ่มเติมได้จาก website ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไทยพาณิชย์ จำกัด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่SCB Call Center โทร. 02-777-7777

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ