การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF): คู่มือเบื้องต้นว่าด้วยขั้นตอนการทำสำหรับมือใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday December 27, 2023 16:40 —ThaiPR.net

การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF): คู่มือเบื้องต้นว่าด้วยขั้นตอนการทำสำหรับมือใหม่

เนื่องจากสภาพร่างกายของคนเราไม่เหมือนกันจึงทำให้ระดับความยากง่ายในการมีบุตรของคู่สมรสแต่ละคู่นั้นแตกต่างกันออกไปด้วย โดยตัวอย่างของปัจจัยที่มีส่วนต่อการมีบุตรยากนั้นสามารถไล่เรียงได้ตั้งแต่อายุที่เพิ่มมากขึ้น, ปัญหาท่อนำไข่อุดตันหรือถูกทำลายในฝ่ายหญิง ไปจนถึงปัญหาเชื้ออสุจิน้อยหรือไม่แข็งแรงในฝ่ายชาย ฯลฯ

จริงอยู่ที่ว่าปัจจัยด้านสภาพร่างกายมีส่วนสำคัญต่อการมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าในทุกวินาทีจึงทำให้คู่สมรสหลายคู่ที่ประสบกับปัญหาดังกล่าวเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization - IVF) หรือการปฏิสนธินอกร่างกายรูปแบบหนึ่งกันมากขึ้น ว่าแต่ IVF คืออะไร? แล้วขั้นตอนทั้งหมดนั้นจะยากง่ายมากน้อยแค่ไหน? ถ้าพร้อมแล้ว ลองตามไปหาคำตอบพร้อมกันด้านล่างนี้ได้เลย

การทำเด็กหลอดแก้วคืออะไร?

ปกติแล้วการมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติคือการปฏิสนธิของอสุจิและไข่ภายในร่างกายของมนุษย์ แต่ในกรณีของการปฏิสนธินอกร่างกายนั้นแพทย์จะนำอสุจิของฝ่ายชายและไข่ของฝ่ายหญิงมาทำการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการจนกระทั่งไข่ที่ได้รับการผสมเริ่มเจริญเติบโตและมีความแข็งแรงมากพอจึงจะย้ายไข่กลับเข้าไปบริเวณโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์เป็นลำดับต่อไป

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วมีอะไรบ้าง?

เราสามารถแบ่งขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วออกเป็น 3 ส่วน ประกอบไปด้วย ขั้นตอนก่อนทำ, ขั้นตอนระหว่างทำ และขั้นตอนหลังทำ

ขั้นตอนก่อนทำ

ในส่วนนี้จะเป็นการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการประเมินว่าคู่สมรสเป็นผู้มีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ หลังจากผ่านการประเมินแล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกายของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอย่างละเอียดเพื่อคัดกรองโรคทางพันธุกรรม, โรคทางเพศสัมพันธ์ ไปจนถึงการตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อเช็กความพร้อมของร่างกายไปพร้อมๆ กับการตรวจคุณภาพอสุจิของฝ่ายชายและโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนในส่วนนี้  แพทย์ให้ฝ่ายหญิงฉีดฮอร์โมนต่อเนื่องเป็นเวลา 10-12 วันเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มจำนวนรังไข่

ขั้นตอนระหว่างทำ

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วจะเริ่มขึ้นหลังจากแพทย์อัลตราซาวด์เพื่อนับจำนวนถุงและขนาดของไข่ และฝ่ายหญิงได้รับฮอร์โมนกระตุ้นเข็มสุดท้ายเป็นเวลา 34-38 ชั่วโมง เมื่อถึงเวลาเก็บไข่ แพทย์จะสอดเข็มเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อนำไข่ที่ได้มาปฏิสนธิกับอสุจิในห้องปฏิบัติการจนกระทั่งไข่เริ่มเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนและแข็งแรง แพทย์ถึงจะนำไข่ดังกล่าวฉีดกลับเข้าไปที่บริเวณโพรงมดลูก

ขั้นตอนหลังทำ

หลังจากฝังตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูก ผู้เข้ารับการทำเด็กหลอดแล้วสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจจะต้องรับประทานฮอร์โมนตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับโพรงมดลูก ซึ่งในระหว่างนี้ผู้รับประทานฮอร์โมนอาจจะมีอาการต่างๆ อาทิ ปวดท้อง, ท้องอืด หรือคัดเต้านม ร่วมด้วย ซึ่งหากอาการที่ว่าทวีความรุนแรงจนถึงขั้นมีเลือดออกในจากช่องคลอดและในขณะปัสสาวะประกอบกับมีอาการอื่นๆ อาทิ ตกขาว หรือไข้สูง ให้ผู้เข้ารับการรักษารีบเข้าไปพบแพทย์ด่วนเพื่อทำการวินิจฉัยเป็นลำดับต่อไป


แท็ก อสุจิ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ