มทร.ล้านนา เปิดตัว"โครงการ New Blood Tranfusion"ส่งเสริมนักศึกษาปั้นนวัตกรรมช่วยชุมชน

ข่าวทั่วไป Sunday February 4, 2024 22:50 —ThaiPR.net

มทร.ล้านนา เปิดตัว

มทร.ล้านนา มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้องคมนตรี "พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์" ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมเปิดตัว "โครงการ New Blood Tranfusion" ส่งเสริมนักศึกษาร่วมกลุ่มสร้าง "Soft Power'" ปั้นนวัตกรรมช่วยชุมชน จดสิทธิบัตรเป็นผลงานนักศึกษา

ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เปิดเผยว่า สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ได้เห็นชอบมอบปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2565 แก่ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการหลวงให้แก่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และให้การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชน ได้เข้าไปฝึกประสบการณ์ และเรียนรู้ในพื้นที่โครงการหลวง ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนให้ทุกคนรู้จักคิดและปฏิบัติควบคู่กันไป โดยคิดจากสิ่งง่ายๆ ไปหายาก ลงมือปฏิบัติจริงไปสู่กลไกของการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวอีกว่า ในส่วนของ มทร.ล้านนา มีหลักในการผลิตและพัฒนาบัณฑิต โดยพยายามปลูกฝังให้เยาวชนได้รู้คุณค่าในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ท่านได้ให้ข้อคิด หรือแนวทางการศึกษา ทำอย่างไรให้ประชาชนตระหนัก และรู้คุณค่า พระราชดำรัสที่ทรงให้ไว้แก่ปวงชนชาวไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษา การสร้างความรู้ ความเข้าใจ การศึกษาเกิดขึ้นมาได้ หรือพัฒนาได้มาจากพระมหากษัตริย์ที่เข้าใจการศึกษา จึงส่งเสริมให้เกิดมหาวิทยาลันยต่างๆ และส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนเรียนรู้ เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

"โครงการหลวง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทำให้เด็กเข้าใจว่าศาสตร์พระราชา ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ทางมทร.ล้านนา ได้มีการจัดตั้งโครงการ New Blood Tranfusion โดยให้อาจารย์ใหม่ของ มทร.ล้านนา ได้เข้าไปสัมผัส ศึกษา และเรียนรู้โครงการหลวง ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาได้รวมกลุ่มกันไม่น้อยกว่า 5 คน เขียนโครงการมาเสนอมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาชุมชนของตัวเอง โดยใช้ศาสตร์พระราชามาเป็นหลักคิด เป็นแนวทางในการพัฒนาอันนำไปสู่การตอบโจทย์ให้แก่พื้นที่ และสร้างให้เกิด Soft Power  หรือแนวคิดให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่" ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าวและว่า สำหรับโครงการ New Blood Tranfusion นี้จะเปิดให้นักศึกษาเสนอโครงการได้ประมาณเดือนก.ค.2567 ก่อนนำไปสู่การทำงานในพื้นที่ เดือนส.ค.นี้ โดยจะเปิดกว้างให้นักศึกษาทุกสาขา ทุกคณะ ทุกชั้นปี สามารถรวมกลุ่มกันเป็นทีมไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นนักศึกษาในคณะเดียวกัน หรือชั้นปีเดียวกัน หากนักศึกษาสามารถรวมกลุ่มได้มาจากหลากหลายคณะ ชั้นปี จะถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก เพราะโลกของการทำงานจริงๆ จะต้องทำงานกับผู้คนหลากหลาย และเกิดมิติให้ทุกคณะ ทุกชั้นปีได้ทำงานร่วมกัน  อีกทั้งหากรวมกลุ่มได้หลากหลายก็จะได้รับทุนมาก 50,000 บาท โดยเบื้องต้นมหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนไม่น้อยกว่า 20 โครงการ ทุกวิทยาเขตของ มทร.ล้านนา สามารถเสนอโครงการเข้ามาได้

"มหาวิทยาลัยยังพร้อมที่จะผลักดันให้นักศึกษามีผลงาน มีสิทธิบัตรเป็นของตนเอง รวมถึงมีทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาที่มีมุมมองความคิดที่ดี ตั้งใจทำงาน ซี่งที่ผ่านมา มทร.ล้านนามีการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง การทำกิจกรรมต่างๆ จะทำให้นักศึกษาได้รู้จักและพยายามคิดค้นในสิ่งที่เป็น Soft Power และนำมาเป็นสิทธิบัตรของตนเอง กระตุ้นการศึกษาในสายอาชีพ และทำให้เกิดนวัตกรรมของชุมชนให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นสิ่งที่ติดตัวนักศึกษาตลอดไป" รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ