การประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชีย "ฉันทำได้" คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จับมือเครือข่ายก้าวไปด้วยกัน จัดประชุมนานาชาติส่งเสริมศักยภาพคนพิเศษและคนพิการในสังคม

ข่าวทั่วไป Wednesday February 28, 2024 14:10 —ThaiPR.net

การประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชีย

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายก้าวไปด้วยกัน จัดการประชุมนานาชาติการประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชีย "ฉันทำได้" The Asian Congress for People with Special Needs "I am able." ระหว่างวันที่ 22 - 25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมอำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ทั้งนี้มีการจัดแถลงข่าวการจัดงานครั้งนี้ โดยมี Mr.Thomas Kraus ผู้ริเริ่มการประชุมสภาคนพิเศษ กล่าวถึงที่มาของการจัดการประชุมครั้งนี้ รศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ คณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมและตัวแทนเครือข่ายก้าวไปด้วยกัน เสนอหัวข้อและกิจกรรมในการประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชีย "ฉันทำได้" ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ คณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุม นำเสนอความเคลื่อนไหวในการสร้างคุณภาพชีวิต และการงานอาชีพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ และตัวแทนบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ กล่าวถึงประสบการณ์การเข้าร่วมการประชุมสภาคนพิเศษ

การประชุมสภาคนพิเศษ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2555 การประชุมในปีนี้ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ นับเป็นครั้งที่ 5 และได้ยกระดับขึ้นเป็นการประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชีย และขยายกลุ่มเป้าหมายสู่ผู้พิการทุกประเภทและผู้ต้องการการสนับสนุนทางจิตใจ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมให้เกิดการรับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปลุกศักยภาพบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งในและต่างประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่าย และศึกษาวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ในการอยู่ร่วมกันและดูแลคุณภาพชีวิตบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการแก่สังคมไทยและสังคมโลก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อขยายองค์ความรู้ตามแนวมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) ในการดูแลและพัฒนาศักยภาพแก่บุคคลกลุ่มนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 175 คน ประกอบด้วยบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการจำนวน 73 คน จากประเทศต่างๆ เช่น ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย จีน อินเดีย ฯลฯ

รศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงแนวคิดหลักของการจัดประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชียในปีนี้คือ "ฉันทำได้" เพื่อสื่อสารให้เห็นว่าคนพิเศษและคนพิการก็สามารถทำงานและมีอาชีพได้ นอกจากการงานที่ได้เงิน ยังรวมถึงงานที่เติมเต็มจิตใจด้วย

"คนพิเศษที่ร่วมประชุมมีอายุ 15 ปีขึ้นไป พวกเขาไม่ใช่เด็กพิเศษ เราสร้างพื้นที่ให้คนพิเศษได้เติบโตตามศักยภาพ ไม่ใช่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลแบบประคบประหงม รวมถึงปรับแนวคิดผู้ดูแล แนะเส้นทางการเป็นพ่อแม่ที่ปลุกศักยภาพให้เขาทำได้ เราเชื่อว่าคนพิเศษมิติทางจิตวิญญาณสมบูรณ์ เพียงแต่เขามาอยู่ในร่างที่บกพร่อง ไม่สามารถพูดออกมา มองเห็น หรือได้ยิน การเปิดพื้นที่สังคมให้คนพิเศษจะช่วยให้ให้พวกเขาได้แสดงออกทางความคิด ที่นี่ไม่ใช่ค่าย แต่ละกิจกรรมปลุกให้เขาตื่นขึ้น เติบโตมากขึ้น และได้ไอเดียใช้ชีวิต " รศ.ดร.ศศิลักษณ์ กล่าว

รศ.ดร.ศศิลักษณ์เผยถึงอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพแก่คนพิเศษและคนพิการในสังคมไทยคือสังคมขาดความรู้ มีเพียงความสงสาร งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าคนพิเศษต้องการความเข้าใจ คนในสังคมต้องรู้ว่าสิ่งใดมีความจำเป็นสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายและจะสนับสนุนพวกเขาอย่างไร ความกลัวเป็นอีกปัจจัยที่ผลักให้คนพิเศษออกจากสังคมหรือถอยห่างออกไป การประชุมสภาคนพิเศษมีเป้าหมายที่การอยู่ร่วมกันและมีพื้นที่ยืนในสังคม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ