รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ต้นแบบนวัตกรรมทันตกรรมทางไกล ช่วยผู้ป่วยเข้าถึง "โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมฯ" ประหยัดค่าเดินทาง

ข่าวทั่วไป Wednesday March 27, 2024 12:00 —ThaiPR.net

รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ต้นแบบนวัตกรรมทันตกรรมทางไกล ช่วยผู้ป่วยเข้าถึง

รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ต้นแบบ "นวัตกรรมทันตกรรมทางไกล" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการรากฟันเทียม ภายใต้ "โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมฯ" ลดการเดินทางมา รพ.จังหวัดจาก 8 ครั้ง เหลือเพียง 2 ครั้ง ประหยัดค่าใช้จ่ายแฝงนับหมื่นบาท

วันที่ 22 มี.ค.2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพญ.วรางคนา เวชวิธี รักษาการทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นางมลุลี แสนใจ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชม "โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567" และ "นวัตกรรมการบริการทันตกรรมทางไกล" (Teledentistry) โดยมี นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 10 นพ.ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี (สสจ.อุบลราชธานี) นพ.มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ และ ทพ.วุฒิชัย ตั้งสิริสุธีกุล ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ร่วมกันให้การต้อนรับและให้ข้อมูล

ทพ.วุฒิชัย กล่าวว่า โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 เพื่อให้บริการรักษารากฟันให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาทในจ.อุบลราชธานีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยไม่ต้องเดินทางมารักษารากฟันที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ แต่สามารถไปรับบริการเตรียมความพร้อมในช่องปากที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ได้ โดยทันตแพทย์ รพช. และทันตแพทย์ที่ชำนาญการจะปรึกษาและแนะนำแนวทางการรักษา หรือที่เรียกว่า Teleconsult เพื่อเตรียมช่องปากให้ผู้ป่วยก่อนจะทำการผ่าตัดใส่รากฟันเทียม ช่วยลดการเดินทางให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาเตรียมความพร้อมช่องปากที่โรงพยาบาลจังหวัด ทั้งไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเป็นการเบิกจ่ายจาก สปสช. รวมถึงยังได้งบประมาณจากเขตสุขภาพที่ 10 มาสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ หลังจากเตรียมช่องปากแล้ว ทันตแพทย์ที่ รพช. จะส่งผู้ป่วยมารับบริการมาใส่รากฟันที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ในคราวเดียวกันยังจะมีการฝึกทักษะการทำหัตถการให้กับแก่ทันตแพทย์ รพช. ที่ขาดทักษะและประสบการการรักษาฝังรากฟันเทียมด้วย ซึ่งภายหลังผู้ป่วยใส่รากฟันเทียมแล้ว ก็จะมีการติดตามผลการรักษาผ่านระบบการแพทย์ทางไกล Teledentistry ผ่านบุคลากรสุขภาพในพื้นที่จนผู้ผู้ป่วยหายเป็นปกติ

"โครงการนี้ช่วยลดการเดินทางของผู้ป่วยมาพบทันตแพทย์เพื่อใส่รากฟันเทียม จากที่ต้องมายัง รพ.สรรพสิทธิประสงค์รวม 8 ครั้ง แต่ระบบ Teledentistry ทำให้ผู้ป่วยเดินทางมา รพ.สรรพสิทธิประสงค์แค่ 2 ครั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับผู้ป่วยแต่ละรายได้นับหมื่นบาท"

ขณะที่ ทพญ.วรางคนา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 1 ล้านคนมีภาวะสูญเสียฟันทั้งปาก ต้องได้รับการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียม เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น นอกจากนี้ในส่วนโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2567 โดยมีเป้าหมายผู้รับบริการ 72,000 ราย ในส่วนของผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียมที่ รพ. รัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยบริการประจำตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน แต่ขอให้เป็นหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อความสะดวกรักษาต่อเนื่อง

"ทิศทางข้างหน้านอกจากการรักษาช่องปากแล้ว สิ่งที่อยากมุ่งเน้นคือการบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคทางช่องปาก ซึ่งได้หารือ สปสช. ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจสุขภาพช่องปากให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการป้องกันสุขภาพในช่องปากก่อนเกิดโรคที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย" ทพญ.วรางคนา กล่าว

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมฯ ได้ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวกมากขึ้นและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ผู้ป่วยบางส่วนยังอาจมีอุปสรรคการเดินทาง ดังนั้นด้วยการจัดบริการทันตกรรมของ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ทีใช้ระบบทันตกรรมทางไกลมาบริการประชาชน ได้ช่วยให้ผู้ป่วยลดการเดินทางมายัง รพ. ได้ โดยยังคงได้พบและปรึกษากับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบ Teledentistry ที่นับเป็นบริการต้นแบบ ช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยลงไปได้อย่างมาก

"ที่สำคัญโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นการสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ปัญหาให้ผู้ที่สูญเสียฟันทั้งปากให้ได้รับฟันเทียมเพื่อให้สามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งโครงการนี้มีหลายหน่วยงานที่ร่วมมือดำเนินการ และ สปสช. ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุน โดยได้เพิ่มสิทธิประโยชน์รากฟันเทียมแก่ผู้ที่สูญเสียฟันทั้งปากหรือผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมแล้วหลวมโยกและจำเป็นต้องใส่รากฟันเทียมเพื่อยึดฟันเทียมให้แน่นขึ้น" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ