สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์จัดงาน “ซิกเนเจอร์” โชว์ฝีมือนักออกแบบรุ่น 6 จัดแฟชั่นโชว์ตระการตากว่า100 ชุด

ข่าวทั่วไป Friday May 9, 2008 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--พีอาร์พีเดีย
สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI) เขย่าวงการออกแบบเมืองไทยจัดงานศิลปนิพนธ์ชื่อเก๋ “ซิกเนเจอร์” (Signature) โชว์ผลงานนักศึกษา CIDI สาขาออกแบบเสื้อผ้า (Fashion Design) และสาขาตกแต่งภายในและออกแบบผลิตภัณฑ์ (Interior and Product Design) รุ่นที่ 6 เปิดงานด้วยแฟชั่นตระการตากว่า 100 ชุด ดึงเซเลบริตี้ชื่อดัง เช่น ศันสนา จิราธิวัฒน์ ลภาภิดา หล่อกิติยะกุล มินยา บุณยเกตุ วิลาสินี พรประเสริฐถาวร ธีรตีพิศา เตวิชพศุตน์ และณิชเบญญา จันทนจุลกะร่วมแคทวอล์ก พร้อมจัดนิทรรศการผลงานและกิจกรรมเวิร์คชอปสารพัดแฟชั่นยาวตลอดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 6-12 พฤษภาคม 2551 ณ เซ็นทรัลเวิลด์
ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ผู้อำนวยการ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ กล่าวในพิธีเปิดงาน “ซิกเนเจอร์” อย่างเป็นทางการว่า “สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (Chanapatana International Design Institute: CIDI) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 ตามดำริของพระเทพเจติยาจารย์ หรือ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล เพื่อเป็นสถาบันนานาชาติด้านการออกแบบ โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากสถาบันออกแบบชั้นนำจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ได้จัดงานแสดงศิลปนิพนธ์ ซึ่งเป็นการแสดงผลงานของนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของสถาบัน CIDI มาติดต่อกันในปีนี้เป็นปีที่ 6”
“เรากำหนดให้นักศึกษาจัดแสดงผลงานต่อสาธารณชน เนื่องจากสถาบันเล็งเห็นว่านอกจากความสามารถด้านออกแบบ นักศึกษาจะต้องมีทักษะการบริหารจัดการผลงานให้ผลิตออกมาเป็นชิ้นงานจริงได้ ซึ่งทำให้นักศึกษาเข้าใจอุตสาหกรรมแฟชั่นตลอดกระบวนการอย่างถ่องแท้ และแนวคิดเรื่องการจัดการแฟชั่นนี้เองที่ถือเป็นจุดเด่นของหลักสูตรที่ CIDI”ดร.สาครกล่าว
ในปี 2551 นี้ นักศึกษา CIDI รุ่นที่ 6 ชั้นปีสุดท้าย สาขาออกแบบเสื้อผ้า จำนวน 21 คน และสาขาตกแต่งภายในและออกแบบผลิตภัณฑ์ จำนวน 20 คน ได้ร่วมใจจัดงานศิลปนิพนธ์โดยใช้ชื่อว่า “ซิกเนเจอร์” (Signature) ซึ่งมีความหมายหลายนัย ได้แก่ Signature หมายถึง Identity หรือเอกลักษณ์ของนักออกแบบแต่ละคน Sig พ้องเสียงกับ Six ซึ่งหมายถึงนักศึกษา CIDI รุ่นที่ 6 ซิกเซนส์ (Sixth Sense) หมายถึง เหนือไปจากเซนส์หรือสัมผัสที่ 5 ซึ่งการออกแบบเป็นการผสานสัมผัสทุกอย่างเข้าด้วยกัน หล่อรวมด้วยความสร้างสรรค์และความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคนซึ่งเป็นเซนส์พิเศษ และความหมายสำคัญสุดท้ายที่ CIDI ต้องการสื่อกับสังคม คือ Sick Nature ความบอบช้ำของธรรมชาติที่เกิดโดยฝีมือมนุษย์อย่างภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดการออกแบบทั้งในส่วนออกแบบแฟชั่นและการออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสะท้อนออกมาจากทั้งแบบ การเลือกใช้วัสดุ และฟังก์ชั่นการใช้งาน
ในพิธีเปิดงานซิกเนเจอร์ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ มร.อิญาชิโอ ดิ ปาเช เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยเป็นประธานในพิธี นักศึกษา CIDI รุ่นที่ 6 ได้โชว์ผลงานสุดอลังการกว่า 100 ชิ้นในรูปแบบแฟชั่นโชว์โดยเหล่านาง-นายแบบและเซเลบริตี้ชื่อดังที่มาร่วมเดินแบบการกุศล เช่น ศันสนา จิราธิวัฒน์ ลภาภิดา หล่อกิติยะกุล มินยา บุณยเกตุ วิลาสินี พรประเสริฐถาวร ธีรตีพิศา เตวิชพศุตน์ และณิชเบญญา จันทนจุลกะ
งานนี้คุณแทม-ศันสนา จิราธิวัฒน์ ถูกแปลงโฉมฉีกแนวสุดๆ จากสาวหวานตระกูลจิราธิวัฒน์ เป็นสาวชาวบ้านในชุดคอลเล็คชั่น “I AM SO HAPPY BEING ESAN” ของน้องมะเหมี่ยว-สุธิษณา เลิศสุขประเสริฐ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือลูกอีสาน เล่าถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนอีสานที่อยู่กับธรรมชาติได้อย่างเรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ การแต่งกายเป็นการผูกแบบง่ายๆ การพันผ้าแบบยุ่งๆ แต่ดูแล้วน่าสนใจ ทั้งนี้ยังได้ผสมแนวความคิดของการรีไซเคิลสิ่งของแบบง่ายๆ ของคนอีสาน เช่น การตัดขวดพลาสติกสีสันฉูดฉาดที่ไม่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ผ้าที่ใช้ในผลงานเป็นผ้าธรรมชาติ ผสมผสานกับผ้าขาวม้าสีสันฉูดฉาดและสีเขียวสะท้อนแสง ที่สะท้อนแนวความคิดของการรีไซเคิลสิ่งของ ซึ่งน้องมะเหมี่ยวบอกถึงเหตุผลที่เลือกคุณแทมเป็นนางแบบว่า เพราะสามารถจะได้สื่อเด่นชัดถึงอีกแนวคิดที่ว่าเมื่อข้างในคนงาม ไม่ว่าชุดจะเป็นแบบใดหรือแม้แต่ชุดที่เรียบง่ายที่สุดก็ไม่สามารถบดบังความงามจากภายในได้
ส่วนคุณมิ้นท์-มินยา บุณยเกตุ ที่เป็นแบบฉบับของสาวรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในพลังของความรัก เดินแบบในชุดคอลเล็คชั่น “Love is…?” ของน้องจอย-ศิริพักตร์ จินศิริวานิชย์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากความรัก เช่น ความรักระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง โดยเมื่อเราทุกคนนึกถึงความรัก เราต่างก็ให้นิยามของความรักในแบบที่แตกต่างกันไป ในคอลเล็คชั่นนี้ สีฟ้าเป็นตัวแทนของความเป็นผู้ชาย และสีชมพูเป็นตัวแทนของความเป็นผู้หญิง ผ้าที่มีลักษณะแข็งและพลิ้วไหวแสดงถึงการผสานความแข็งแกร่ง ความอ่อนโยน ซึ่งทำให้ความรักของชายและหญิงสมดุลและลงตัว สิ่งที่นำมาประดับในคอลเล็คชั่นนี้คือ ดอกกุหลาบ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในการแสดงออกถึงการให้ความรัก ในคอลเล็คชั่นนี้มีการผสมผสานระหว่างการแต่งกายของตะวันตก (Marilyn Monroe) และการแต่งกายของตะวันออก (Chinese Traditional Style) เพื่อทำให้ชุดลุคจีนออกมาทันสมัยมากขึ้น
คุณแอน-ลภาภิดา หล่อกิติยะกุล เดินแบบในคอลเล็คชั่น “Mixture” โดยน้องจ๊ะโอ๋-เนรัญชลา กลิ่นหอม ที่มีแรงบันดาลใจมาจากรูปถ่ายของผู้หญิง 2 รูป ที่มีวัฒนธรรมการแต่งกายที่คล้ายคลึงกัน แม้อยู่ต่างซีกโลก จึงนำภาพทั้ง 2 ภาพมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบผสมผสานสไตล์การแต่งกายของฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นการผสานวัฒนธรรมแฟชั่นที่มีมาเนิ่นนานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยในคอลเล็คชั่นได้นำผ้าไทย ผ้าฝ้ายทอมือ ผสมเข้ากับการใช้ผ้า silk organza และการย้อมสีแบบธรรมชาติโดยใช้กาแฟและมะเกลือย้อมผ้า รวมถึงการดัดแปลงลายกนกไทยเป็นลายพิมพ์ของคอลเล็คชั่น
คุณติ๊ก-วิลาสินี พรประเสริฐถาวร เดินแบบในคอลเล็คชั่นสุดแสนโรแมนติค “Travel through the Time” ที่น้องโบว์-ประพาฬรัตน์ เมฆสกุลรัตน์ บอกผ่านเรื่องราวว่า
“The letter is not just a thing.
The letter is a connection of time line.
The letter crosses the miles that separate us.
The letter is my love to you.”
เรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ออกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังดินแดนที่ห่างไกล เผชิญวัฒนธรรมที่แตกต่าง ภาษาที่แตกต่าง เพื่อตามหาคนรักของเธอ โดยมีจดหมายเพียงฉบับเดียวที่เขาส่งมาให้เป็นตัวเชื่อมโยง จดหมายที่เป็นปัจจุบันเมื่อเขาเขียนและกลายเป็นอดีตเมื่อเขาส่งไป แต่มันคือปัจจุบันในที่ที่เธอได้รับ จดหมายที่เลือนรางผ่านกาลเวลา ที่แฝงไปด้วยความรัก ความคิดถึงที่เปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะส่งไปให้ถึงให้อีกฝ่ายได้รับรู้
คุณพรีม-ธีรตีพิศา เตวิชพศุตน์ สาวนักกฎหมายซึ่งคราวนี้มาในลุคสวยดุสไตล์พังค์กับคอลเล็คชั่น “Body's scene no. 4” ของน้องหวาน-นพมาศ ตระกูลสิน ซึ่งใช้แรงบันดาลใจจาก Anatomy ด้วยแนวคิดว่าร่างกายมนุษย์มีสิ่งที่เหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกัน หรือร่างกายมนุษย์มีความแตกต่างกันแต่ก็มีบางอย่างที่เหมือนกัน จึงนำเอากายวิภาคของมนุษย์บางส่วนที่น่าสนใจมาสร้างสรรค์และผสมผสานในสไตล์พังค์ (Punk)
และคุณเจน-ณิชเบญญา จันทนจุลกะ ซึ่งนุ่มนวลสวยหวานเหมาะกับ “ดอกโบตั๋น” ที่เป็นแรงบันดาลใจของคอลเล็คชั่น “Chinese blossoms” ของน้องบี-ลลิดา ทิพย์สถาพรชัย ที่มีแนวคิดว่า “ดอกโบตั๋น” เป็นดอกไม้ที่เสมือนเป็นตัวแทนของชาวจีน และเป็นดอกไม้ที่มีคุณค่า มีประวัติศาสตร์อยู่คู่กับชาวจีนมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ในคอลเลคชั่นนี้ต้องการสื่อถึงคุณค่า ความอ่อนหวานของฝั่งตะวันออกผสมกับความทันสมัยของฝั่งตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยใช้สีโทนน้ำตาลทองแสดงถึงความทันสมัยและดูสง่างาม ผ้าไหมซาตินซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนผ้าแพรของชาวจีน และไหมชีฟองที่ให้ความรูสึกอ่อนโยน เน้นการจับเดบจีบพีทให้มีความพลิ้วไหวและดูสง่างามเหมือนดอกโบตั๋น
ภายในพิธีเปิดงานยังมีการประกาศผลรางวัลสำหรับนักศึกษา CIDI สาขาตกแต่งภายในและออกแบบผลิตภัณฑ์ 2 รางวัลได้แก่ การประกวดออกแบบของขวัญจากพลาสติก โดย บริษัท ไทยยูไนเต็ด อินดัสทรี จำกัด ซึ่งผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 คือวิชชุ กุลมา นักศึกษา CIDI สาขาตกแต่งภายในและออกแบ6บผลิตภัณฑ์ รุ่นที่ 7 ได้รับรางวัลเป็นใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลมูลค่า 25,000 บาท และอีกรางวัลได้แก่ การประกวดออกแบบเบียร์ ทาวเวอร์ โดยบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 คือ ภานุวัฏ ธัญญเจริญ นักศึกษา CIDI สาขาตกแต่งภายในและออกแบบผลิตภัณฑ์ รุ่นที่ 6 ได้รับรางวัลเป็นใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท
นอกจากแฟชั่นโชว์กว่า 100 ชุดในพิธีเปิดแล้ว ในวันที่ 10 พฤษภาคม ยังมีการจัดแฟชั่นโชว์สตรีทแวร์จากนักออกแบบรุ่นใหม่ ยัง ดีไซน์ บาย ยามาฮ่าและนักศึกษา CIDI รุ่น 6 ซึ่งมีเซเลบริตี้หนุ่มหล่อมาร่วมเดินแบบการกุศลเช่นกัน เช่น พัฒน์ ศกุนตนาค นรัษฐา จิราธิวัฒน์ และณพงศ์ ปานทอง
และเพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้ด้านการออกแบบแก่ผู้รักการออกแบบ นอกจากการจัดนิทรรศการแสดงผลงานนักศึกษา CIDI รุ่น 6 ภายในงานซิกเนเจอร์ยังมีการจัดกิจกรรมเวิร์คชอปด้านการออกแบบฟรีให้กับผู้สนใจตลอดสัปดาห์ ไปจนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม กิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การสัมมนาเรื่องการออกแบบแนวหัตถอุตสาหกรรมและการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ในการออกแบบ โดย Planet2001 กิจกรรมอินทีเรีย ดีไซน์ คลีนิค โดย Showroom การสอนความรู้เกี่ยวกับการทำแพทเทิร์นและการตัดเย็บเบื้องต้น กิจกรรมการออกแบบชุดตุ๊กตาในสไตล์ของตัวเองและนำกลับเป็นที่ระลึกได้ โดยบริษัท บลูสปอร์ต จำกัด ผู้นำเข้าจักร Bernina และวงสนทนาเรื่องการนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนกับ ดร.สิงห์ อินทรชูโต OSISU
“CIDI มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันที่สานฝันให้กับผู้รักการออกแบบ และผลิตบุคลากรนักออกแบบระดับคุณภาพชาวไทยที่สามารถพิสูจน์ฝีมือให้วงการออกแบบโลกได้เห็นว่านักออกแบบไทยไม่ด้อยไปกว่าชาติใด ซึ่งในวันนี้ CIDI ก็ปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่ได้ส่งนักศึกษา CIDI ให้บรรลุฝันในก้าวแรกเป็นรุ่นที่ 6 แล้ว และอยากให้กำลังใจกับผู้ที่มีฝัน ขอให้มุ่งมั่นทำตามฝันของตนให้เป็นจริง” ดร.สาครกล่าว
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับ CIDI เพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2741 3717 และ www.chanapatana.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท พีอาร์พีเดีย จำกัด
ชัยวัฒน์ สิมะวัฒนา / จตุพล นาคนิ่ม / พชรวดี จุโลทัย
มือถือ: 089 811 7937 / 081 689 8245 / 085 055 1473
โทรศัพท์ : 02 439 3837
อีเมล์ : contact@prpedia.co.th
www.prpedia.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ