ทุกวันนี้ Adenovirus … ไม่ใช่โรคที่มาใหม่ แต่เป็นม้ามืดที่จัดว่าน่ากังวลในเด็กเล็ก

ข่าวทั่วไป Thursday May 16, 2024 16:47 —ThaiPR.net

ทุกวันนี้ Adenovirus … ไม่ใช่โรคที่มาใหม่ แต่เป็นม้ามืดที่จัดว่าน่ากังวลในเด็กเล็ก

อะดีโนไวรัส (Adenovirus) เป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 6 เดือน - 5 ปี แต่ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน มักมีอาการของระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงได้มากกว่า รวมถึงเด็กที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ บทความให้ความรู้โดย พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children's Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของอาการป่วย การตรวจวินิจฉัย และการดูแลรักษา เพื่อจะได้สังเกตลูกน้อยและนำไปสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้มักสามารถอยู่ในอากาศ และพื้นผิวสิ่งแวดล้อมได้ค่อนข้างนานเป็นเดือน จึงพบเห็นระบาดได้เกือบทั้งปี สามารถถูกกำจัดผ่านพื้นผิวด้วยความร้อน และสารฟอกขาว ดังนั้นจำเป็นต้องเฝ้าระวังติดต่อสู่กันผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

  • สารคัดหลั่ง ละอองฝอย น้ำมูก น้ำลาย ขี้ตา
  • ผ่านทางอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อน ผ่านการสัมผัสโดยตรง ทั้งสัมผัสพื้นผิวปนเปื้อน แม้แต่การกินอาหารร่วมกัน หรือผ่านทางอากาศ จากการไอจาม ของผู้ที่มีเชื้ออยู่ก่อน
  • อาการที่พบได้บ่อยหลัก ๆ ได้แก่

    • อาการทางระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ กลืนลำบาก เสียงแหบ
    • อาการไข้หวัด คออักเสบ กล่องเสียงอักเสบ เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจลำบาก นอนกรน
    • อาการโพรงจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เช่น หายใจลำบาก ไปจนถึงมีอาการหายใจหอบเหนื่อย
    • อาการเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดง เช่น ตาแดง น้ำตาไหล เจ็บตา มีขี้ตา
    • อาการลำไส้อักเสบ บางรายอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ร่วมด้วยได้

    ระยะเวลาเฉลี่ยของการเจ็บป่วยจาก Adenovirus หรือมีไข้ อยู่ประมาณ 4-7 วัน ในเด็กเล็ก มักพบว่ามีอาการของทางเดินหายใจที่รุนแรงได้มากกว่า มีไข้สูง เบื่ออาหาร กินไม่ได้ ร่วมกับอาการขาดน้ำได้มากเช่นกัน

    การตรวจวินิจฉัยอะดีโนไวรัส

    ในปัจจุบันทำได้ง่าย คือ การเก็บสิ่งส่งตรวจสารคัดหลั่ง Nasal Swab rapid test for Adenovirus หรือ ส่ง PCR สารคัดหลั่ง หรือขี้ตา เพิ่มเติมได้ หากมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว การเก็บอุจจาระตรวจ สามารถหาเชื้อ Adenovirus ได้เช่นกัน

    การรักษาอะดีโนไวรัส

    Adenovirus ยังเป็นไวรัสในกลุ่มที่ไม่มียาต้านไวรัสสำหรับการรักษาเฉพาะเจาะจง ดังนั้นผู้ป่วยจึงได้รับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่แสดง เช่น

    • การให้ยาลดไข้ : Paracetamol สำหรับบรรเทาอาการไข้ อาการเจ็บตา หรือปวดเมื่อยต่าง ๆ
    • การให้สารน้ำ : เพื่อทดแทน และป้องกันการขาดน้ำ ทั้งจากไข้ จากทางเดินหายใจ หรือจากอาการอาเจียน ท้องเสีย
    • การพักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ : เพื่อประคับประคองอาการ เพื่อการฟื้นฟู ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้มีความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
    • สำหรับเด็กเล็กที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ : การให้ Oxygen และการพ่นยาขยายหลอดลม ไปจนถึงการดูดน้ำมูก ดูดเสมหะ

    วิธีการป้องกันการติดเชื้อ Adenovirus ที่ดีที่สุด คือ

  • การลดการสัมผัสเชื้อ โดยการหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาด น้ำสบู่ หรือแอลกอฮอลล์เจล
  • การรักษาความสะอาดของพื้นผิวสัมผัส โดยเฉพาะบริเวณสถานที่เล่นของเด็กเล็ก โต็ะ เก้าอี้เด็ก
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง พื้นที่แออัด แหล่งชุมชน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสังว่าป่วยมีเชื้อไวรัสดังกล่าว
  • สอนให้มีการใส่หน้ากากอนามัย ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป (หน้ากากอนามัยชนิด 3d ไม่กดทางเดินหายใจ) และการเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม
  • การกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น fish oil ผลไม้ที่มีวิตามิน บี ซี อี
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม อากาศถ่ายเทสะดวก
  • ดังนั้นมาตรการทางสาธารณสุข การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการที่ช่วยลดการแพร่เชื้อ และลดโอกาสการรับเชื้อโรคไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิด หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children's Health Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 Line: @navavej

     


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ