ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ... อุปสรรคการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 27, 2005 11:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เผยแพร่รายงานวิจัยเรื่อง ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ... อุปสรรคการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของไทย โดยสำนักวิจัยมองว่า อุปสรรคสำคัญที่มีผลกระทบต่อการที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะปรับเพิ่มอันดับเครดิตของไทยคือ ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะความเสี่ยงจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย และปัญหาภัยแล้งซึ่งนอกจากจะกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร และการบริโภคสินค้าต่าง ๆ แล้ว ยังจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2548 ด้วย และจะเห็นผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดดุลการค้า เนื่องจากยังไม่มีการปรับโครงสร้างทางการผลิต ขณะที่ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง รวมทั้งปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์ระเบิดในสถานที่ชุมชนใน จังหวัดสงขลาพร้อมกันถึง 3 จุด เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2548 ที่ผ่านมา
สำนักวิจัยมีความเห็นว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) ของภาครัฐในช่วง 4 ปีข้างหน้า จะทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ทั้งจากที่รัฐบาลกู้เพื่อลงทุนเองหรือค้ำประกันการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพราะเอกชนมีแนวโน้มจะไม่สนใจเข้ามาลงทุนมากนักเนื่องจากใช้เงินลงทุนสูง ระยะเวลาการลงทุนยาวนาน และหวังกำไรได้ยาก ทั้งนี้สำนักวิจัยประเมินว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในช่วง 4 ปีข้างหน้า หรือในช่วงปี2548 — 2551 จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งเป็นเพดานหนี้สาธารณะที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ และสัดส่วนดังกล่าวใกล้เคียงกับในปี 2547 โดยสำนักวิจัยประเมินภายใต้สมมติฐานว่ารัฐบาลมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท ถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งจะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
สำนักวิจัยมองว่า Mega Projects จะช่วยชดเชยผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยระยะสั้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและระยะยาวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อย่างไรก็ตามที่สำคัญก็คือ ประสิทธิภาพของโครงการดังกล่าวจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน หรือลดการนำเข้า เป็นต้น ในขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ดังกล่าว จะมีผลทำให้มีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในที่สุด นอกจากนี้หากโครงการ Mega Projects มีความล่าช้าออกไปอาจไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศมากนัก โดยเฉพาะในปี 2548
สำนักวิจัยมีความเห็นว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา จะทำให้การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ