อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอนาคตสดใสในตลาดอียู

ข่าวทั่วไป Thursday May 22, 2008 16:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ในปี 2550 ไทยส่งออกภายใต้สิทธิ GSP (Generalized System of Preferences : ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป) เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 6,913.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 45.75 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เลนส์แว่นตา รองเท้า สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง กุ้งปรุงแต่ง ยางนอกรถบรรทุก และปลาหมึกแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น
โดยที่โครงการ GSP ในช่วงที่ 1 จะครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และขณะนี้สหภาพยุโรป อยู่ระหว่างพิจารณาร่างระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการให้สิทธิ GSP และกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ฉบับใหม่ในช่วง ที่ 2 โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และประเด็นที่ไทยจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น คือ ไทยจะได้คืนสิทธิ GSP ในกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งครอบคลุมรถปิกอัพ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุกชนิดแวน รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และชิ้นส่วนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต และส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปมากอยู่แล้ว ดังนั้น การได้รับสิทธิ GSP คืน นับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสของไทยให้เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป 27 ประเทศได้มากขึ้นอีก
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าต่างประเทศ (คต) ซึ่งเป็นหน่วยงานออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดฯ Form A ให้กับผู้ส่งออกที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษ GSP ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ให้ความรู้และข้อมูลต่างๆ แก่ภาคเอกชนมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ยังคงมีสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP แต่ยังมีผู้มาขอใช้สิทธิไม่มากนัก ได้แก่ เครื่องหนัง อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เซรามิกและของที่ทำจากแก้ว ของที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เฟอร์นิเจอร์ และของเล่นเด็ก เป็นต้น ดังนั้นจึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ส่งออกที่สนใจจะส่งสินค้าไปตลาดสหภาพยุโรปโดยใช้สิทธิพิเศษ GSP ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร.1385 ตอบ ทุกปัญหาด้านการค้าต่างประเทศ หรือติดต่อผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่ www.dft.moc.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ