อุบัติการณ์โรคหอบหืดในเด็กย่านเอเชียเพิ่มสูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2005 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--เอ็มเอสดี (ประเทศไทย)
อุบัติการณ์โรคหอบหืดในเด็กย่านเอเชียเพิ่มสูงขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระดับแนวหน้าเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเด็กโรคหอบหืด
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหอบหืดในระดับแนวหน้าเรียกร้องรัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาให้หันมาใส่ใจและรับมือกับโรคหอบหืดอย่างจริงจัง เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับการรักษาเด็กที่ป่วยด้วยโรคหอบหืดทั่วเอเชียที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
โรคหอบหืดจัดเป็นโรคร้ายแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้แต่สามารถรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคหอบหืดกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าจะมีอัตราสูงขึ้นถึง 400 ล้านคนในปี 2025
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุม Asia MetaForum ที่จัดขึ้นครั้งแรก ในประเทศฮ่องกง ในวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาก่อนการประชุมหอบหืดโลกที่จะมาถึงในวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาโรคหอบหืดในเด็กเอเชียซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญในปัจจุบันเพื่อกำหนดขอบเขตสำคัญเพื่อปรับปรุงและรับมือกับโรคหอบหืด โดยมีประเด็นหลักดังต่อไปนี้:
- ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับโรคหอบหืดในเด็ก แม้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคหอบหืดและผลกระทบที่มีต่อเด็กที่เป็นโรคนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ยังมีความเชื่อดั้งเดิมผิดๆว่าเด็กที่ป่วยด้วยโรคหอบหืดไม่ควรออกกำลังกาย ความหลงผิดนี้ทำให้เด็กต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการหอบหืดที่รุนแรงขึ้น
- แนวทางในการรักษาโรคหอบหืดมิได้คำนึงถึงเด็กที่ป่วยด้วยโรคหอบหืด พบว่ามีการตรวจพบโรคหอบหืดในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่แนวทางในการรักษาโรคหอบหืดปัจจุบันส่วนใหญ่มักกล่าวถึงการรักษาในผู้ใหญ่
- ขาดข้อมูลสนับสนุนการใช้ยารักษาเด็กที่ป่วยด้วยโรคหอบหืด การขาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการใช้ยา รักษาโรคหอบหืดในเด็ก เช่นกัน แนวทางในการรักษาส่วนใหญ่จะเหมาะสำหรับการใช้ยาในผู้ใหญ่ซึ่งอาจเป็นอันตรายสำหรับเด็กได้
- ไม่มีความเข้าใจถ่องแท้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโรคหอบหืดที่มีต่อโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
มีแพทย์และชุมชนจำนวนมากไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของโรคหอบหืดที่มีความสำคัญและส่งผลต่อปอดและโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ศีรษะ จมูก เป็นต้น อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน แต่ควรทำการรักษาร่วมกัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการหาแนวทางและกระตุ้นเตือนประชาชนให้มีความตระหนักถึงโรคหอบหืดมากขึ้น ทั้งในหมู่ผู้ปกครองของเด็กที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด โรงเรียนและที่ทำงาน โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหอบหืดเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม ของประชาชน
- การใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาโรคหอบหืดสำหรับเด็กสร้างความวิตกกังวลแก่คนจำนวนมาก ควรมีการพิจารณาและกำหนดแนวทางการรักษาอื่นๆ ทดแทนการใช้สเตียรอยด์ที่อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่เป็นอันตรายร้ายแรงแก่เด็กตามมา
The Asian MetaForum จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยไชนีสแห่งฮ่องกง ซึ่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาล Prince of Wales ในฮ่องกง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2548 โดยมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 11 คนจากประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมพบปะเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาโรคหอบหืดในเด็ก โดยมีผู้เชี่ยวชาญในระดับแนวหน้าของเอเชีย 63 คน ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขศึกษา ผู้สื่อข่าวและนักธุรกิจ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาของโรคหอบหืดในเด็กในทุกแง่มุมเพื่อหาข้อสรุปและร่างข้อตกลงร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการรับมือกับอุบัติการณ์หอบหืดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเด็กเอเชีย
ช่วงแรกของการประชุมมีการนำเสนอข้อมูลหลักฐานจากผลสำรวจล่าสุดโดยศาสตราจารย์นายแพทย์ จุน ซุง ลี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคทอลิก ประเทศเกาหลีใต้ ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างโรคหอบหืดและโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ 1
- ผลสำรวจเกือบ 4 ใน 5 หรือ 79 เปอร์เซนต์พบว่าอาการกำเริบของโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ส่งผลให้เกิดอาการหอบหืดรุนแรงขึ้น
- มากกว่า 3 ใน 4 หรือ 77 เปอร์เซนต์ของผู้ป่วยหอบหืด เป็นโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มาก่อนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืด
- ผู้ป่วยหอบหืดมากกว่า 7 ใน 10 หรือ 71 เปอร์เซนต์ หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงฤดูกาลที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ง่าย (เช่น ช่วงเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่หน้าฝนในอากาศจะมีฝุ่นละออง หรือเกสรดอกไม้สูง) เนื่องจากจะทำให้มีอาการหอบหืดรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดเกี่ยวกับความวิตกกังวลของผู้ปกครองเด็กที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดเกี่ยวกับการใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษา ซึ่งพบว่า 9 ใน 10 คนหรือ 95 เปอร์เซนต์ที่วิตกกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์
ช่วงต่อมาเป็นการบรรยายของศาสตรจารย์นายแพทย์ จิโอวานนี เพียมอนเต้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และเภสัชวิทยาด้านเซลล์และโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยแพทย์ไมอามี่ กล่าวถึงการขาดความเข้าใจเนื้อหาข้อมูลที่ใช้อ้างอิงการรักษาหอบหืดในเด็กและผู้ใหญ่ที่แตกต่างกัน ศาสตรจารย์นายแพทย์ จิโอวานนี กล่าวว่า ”การรักษาโรคหอบหืดในเด็กและผู้ใหญ่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น พบว่ามีหลายกรณีที่เด็กที่มีอาการหอบหืดกำเริบไม่บ่อย แต่ถ้าเกิดอาการจะทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น ประเด็นนี้ต่อมาได้รับการพัฒนาโดยศาสตราจารย์นายแพทย์เจมส์ เคมป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซานดิโก สหรัฐอเมริกา ที่ออกมาบรรยายและเรียกร้องให้มีการจัดทำข้อมูลที่ถูกต้องและเจาะจงสำหรับการรักษาทางยาสำหรับเด็กและเลือกใช้วิธีรักษาที่เหมาะสมเฉพาะด้านกุมารเวชศาสตร์ ศาสตราจารย์ทั้ง 2 ท่านเน้นความสัมพันธ์ของโรคหอบหืดกับโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และการรักษาโดยยาชนิดรับประทาน เช่น สารยับยั้งลูโคทริน (Leukotrine inhibitor) ซึ่งที่บทบาทยับยั้งอาการอักเสบ
1 ในการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “One Airway” จากผู้ป่วยและผู้ปกครองจำนวน 808 คน (ในจำนวนนี้มีผู้ปกครอง 406 คน) ซึ่งดูแลเด็กที่มีอาการทั้งหอบหืดและเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ได้มีการสัมภาษณ์คนกลุ่มนี้ระหว่าง 20 พฤษภาคม ถึง 8 กรกฎาคม 2546 ในประเทศจีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน การสำรวจนี้ดำเนินการในนามของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โก อิงค์ โดยบริษัท เวิร์ธลิน เวิร์ลด์ไวด์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยนานาชาติเป็นผู้ดำเนินการสัมภาษณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญในปัจจุบันดังต่อไปนี้:-
แถลงการณ์ข้อตกลงร่วมมือกัน
การหารือเพื่อหาข้อสรุปที่มีมติเห็นพ้องร่วมกัน นำโดยประธานการประชุมร่วมกันระหว่างศาสตราจารย์นายแพทย์แกรี่ หว่อง จากฮ่องกง ศาสตราจารย์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยไชนีสแห่งฮ่องกงและศาสตราจารย์นายแพทย์เจมส์ เคมป์ จากสหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์นายแพทย์ หว่อง ได้กล่าวเปิดประชุมมีข้อความว่า “เราต้องการระดมความคิดเห็นอย่างกระตือรือร้นจากผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งล้วนเป็นผู้นำทางความคิด (Opinion Leaders) ในระดับแนวหน้าจากแต่ละประเทศ โดยเน้นให้เห็นถึงภาระที่ต้องแบกรับจากโรคหอบหืด ทั้งที่สัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับอาการภูมิแพ้ของเยื่อบุผิวในจมูกโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ สิ่งสำคัญที่เราได้รับจากการประชุมในวันนี้คือเสียงสะท้อนจากสาธารณชนที่บอกเราว่า พวกเขาต้องการได้รับการรักษาอย่างไร”
การหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นการเปิดรับความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมหลังจากนั้นก็มีการสรุปข้อตกลงร่วมกัน ช่วงสุดท้ายเป็นการสรุปประเด็นสำคัญที่มีมติเป็นเอกฉันท์ ต่อมาเป็นคณะกรรมการจะทำการอนุมัติตามมติข้อตกลงนั้น (ตามข้อความในล้อมกรอบข้างล่าง)
การดำเนินการตามข้อตกลงร่วมมือกัน
- ส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหอบหืดในเด็ก ความสัมพันธ์ระหว่างหอบหืดและโรคเยื่อบุจมูกอัก-เสบจากภูมิแพ้ และแนวคิด “One Airway”
- ให้มั่นใจว่าผู้ป่วยโรคหอบหืดทั้งหมดได้รับการประเมินว่ามีอาการเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือไม่ รวมทั้งในกรณีกลับกัน
- ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกโดยคำนึงแต่เนิ่นๆว่าผู้ป่วยเด็กที่เกิดอาการอักเสบของทางเดินหายใจจะได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
- ทบทวนแนวทางในการรักษาเพื่อยกระดับวิธีปฏิบัติในการรักษาโรคนี้ในเด็กในเอเชียเพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ล่าสุด อีกทั้งมีความชัดเจนเพื่อให้ผู้ปกครองของเด็กที่ป่วยด้วยโรคหอบหืดและแพทย์เข้าใจได้ง่าย
- ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากหอบหืดและอาการภูมิแพ้ของเยื่อบุผิวในจมูกโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้รวมทั้งครอบครัวของเด็ก
- ทำการวิจัยและนำเสนอข้อจำกัดในการรักษา หาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการใช้ยารักษาสำหรับเด็ก
การประชุมสิ้นสุดลงโดยมีข้อสรุปที่เห็นพ้องกันว่า “ถึงเวลาแล้วที่โรคหอบหืดและภูมิแพ้ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจัง โดยทุกฝ่ายทั้งแพทย์ ผู้ป่วย ต้องให้ความร่วมมือมากขึ้น รวมทั้งความร่วมมือจากองค์กรที่ให้การสนับสนุนและหวังว่ารัฐบาลจะการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อให้เกิดผลในทางปฎิบัติ ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงจากทุกฝ่ายต้องกระทำเพื่อหาแนวทางใหม่ๆในการควบคุมโรคหอบหืดอย่างมีประสิทธิภาพ ผลสำรวจหลายชิ้นพบว่าโรคหอบหืดส่งผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อผู้คนในทุกๆวัย รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายที่สังคมต้องแบกรับ ทุกฝ่ายจึงไม่ควรเพิกเฉยและต้องดำเนินการรับมืออย่างจริงจัง”
ลงนามร่วมกันโดยประธานของการประชุม Asia MetaForum:
ศาสตราจารย์นายแพทย์แกรี่ หว่อง ศาสตราจารย์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยไชนีสแห่งฮ่องกง โรงพยาบาล Prince of Wales ฮ่องกง และ
ศาสตราจารย์นายแพทย์เจมส์ เคมป์ ศาสตราจารย์คลีนิกด้านกุมารเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งซานดิเอโก ภาควิชาโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา และกลุ่มแพทย์/ศูนย์วิจัยด้านโรคหอบหืด กรุงซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยทุนสนับสนุนด้านการศึกษาทางการแพทย์ของบริษัท เมอร์ค แอนด์ โก อิงค์ อย่างไรก็ตามความเห็นจากการประชุมนี้และข้อตกลงร่วมมือกันฉบับที่เป็นทางการ เป็นอิสระจากผู้ให้การสนับสนุนในครั้งนี้
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
นายกุลเสฏฐ์ หอวงศ์รัตนะ
ผู้จัดการหน่วยประชาสัมพันธ์
บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด
โทร 662 - 255 — 5090 ต่อ 314
โทรสาร 662 — 655-3606--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ