ระบบขนส่งอัจฉริยะ ทางเลือกใหม่การแก้ปัญหาจราจร ชมได้ในงาน ประชุมทางหลวงโลก ในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday May 25, 2005 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซิฟิก
ทุกเช้าวันจันทร์ดูเหมือนจะเป็นฝันร้ายสำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะแม้ว่าจะมีทางด่วน รถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินคอยรองรับ แต่สภาพการจราจรที่ย่ำแย่ในเมืองหลวง อย่างเช่นกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะไม่ทุเลาลงเลย
ระบบขนส่งอัจฉริยะ หรือที่รู้จักกันในชื่อสากลว่า Intelligent Transport System (ITS) ได้รับการ หยิบยกขึ้นมาพูดกันมากขึ้นในปีนี้ด้วยเชื่อว่าจะสามารถช่วยในจัดการการจราจรได้ดียิ่งขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าระบบขนส่งอัจฉริยะที่สมบูรณ์จะต้องมีปัจจัยพื้นฐานที่พร้อมเกื้อหนุนกันและกันระหว่างถนน (Smart Way) เกทเวย์ (Smart Gateway) และรถยนต์ (Smart car)
สำหรับประเทศไทยเรา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบให้พัฒนาระบบ ITS ที่ใช้อยู่ใน 15 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน นำมาปรับเปลี่ยนและทำการเชื่อมโยงให้สามารถรับข้อมูลด้านการจราจรในภาพรวมทุกด้าน แบ่งออกเป็น 4 โครงการสำคัญ ภายใต้ระยะเวลาดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2548 — 2550 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 800 ล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้าน ITS ระยะเร่งด่วนครอบคลุมพื้นที่ 100 กิโลเมตร โครงการพัฒนาระบบรายงานสภาพจราจรในเวลาจริงแบบ Real Time ระยะแรกครอบคลุมถนนสายหลักบริเวณ ถนนรัชดาภิเษก โครงการติดตั้งระบบ CCTV ระยะที่ 3 จำนวน 77 ทางแยก และโครงการติดตั้งระบบตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร
เทคโนโลยีที่น่าสนใจสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์บนทางด่วน คือระบบเก็บค่าผ่านทางแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Toll Collection system) เนื่องจากสามารถช่วยลดการคับคั่งของรถยนต์บริเวณด่าน เก็บค่าผ่านทางได้มาก ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบอิเล็กทรอนิคส์จะทำการสื่อสารระยะสั้น (Dedicate Short Range Communication) รับและส่งสัญญาณแบบสองทาง (Two-way interactive) ระหว่างอุปกรณ์ติดตั้งในรถยนต์ของผู้ขับขี่ (Electronic Toll Collection on-board equipment) และอุปกรณ์ติดตั้งข้างถนน (Roadside devices) โดยผู้ขับขี่สามารถจ่ายค่าผ่านทางผ่านบัญชีธนาคารของตน โดยไม่จำเป็นต้องหยุดจ่ายค่าผ่านทางที่ด่านเก็บเงินแต่อย่างใด
อุปกรณ์เก็บค่าผ่านทางแบบอิเล็กทรอนิคส์ที่ติดตั้งในรถยนต์ได้รับความนิยมมากในประเทศญี่ปุ่น สนนราคาอยู่ตั้งแต่ 30,000 — 50,000 เยน จนถึงต่ำกว่า 10,000 เยน ซึ่งทางประเทศญี่ปุ่นตั้งเป้าว่า จะติดตั้งอุปกรณ์ชนิดนี้ ในยานพาหนะถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของยานพาหนะทั้งหมดในประเทศ ภายในปี 2550
เมื่อระบบเก็บเงินค่าผ่านทางได้รับความนิยมมากขึ้น อุปกรณ์ชำระเงินค่าผ่านทางก็สามารถสร้าง การสื่อสารระยะสั้นระหว่างรถยนต์และถนนได้มากขึ้น เทคโนโลยีขนส่งอัจฉริยะจึงถูกดัดแปลงและสร้างประโยชน์ใช้สอยได้มากจนกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในด้านลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) เช่น การชำระค่าจอดรถ เป็นต้น นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ติดตั้งในรถยนต์ยังได้รับการดัดแปลงให้กลายเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ อาทิ เป็นระบบนำทางรถยนต์ ที่สามารถแสดงข้อมูลในรูปแบบตัวอักษร ภาพ เสียงหรือถ่ายทอดข้อมูลไปยังไดรฟเวอร์ ฮาร์ดดิสก์ หรือหน่วยความจำในมือถือ นอกจากนี้ผู้ขับขี่ยังสามารถต่ออินเตอร์เน็ต ดาวโหลดเพลง ภาพยนต์หรือข้อมูลแผนที่จากเวปไซด์ หรือแม้กระทั่งจองที่พักและบริการต่าง ๆ สามารถตรวจเช็คสภาพแวดล้อมขณะขับขี่ สำรวจสิ่งกีดขวางบนถนน ตรวจสภาพถนนของที่หมายปลายทางได้ อีกด้วย
ข่าวดีสำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปชมถึงต่างประเทศ เพราะนวัตกรรมระดับโลกเหล่านี้จะจัดแสดงอยู่ในเมืองไทยและสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่งานประชุมนานาชาติ “อินเตอร์เนชั่นแนล โร้ด เฟดเดอเรชั่น เวิลด์ มีตติ้ง 2005 ครั้งที่ 15 (International Road Federation World Meeting 2005) และ “ไออาร์เอฟ / อินเตอร์แทรฟฟิค เอ็กซิบิชั่น” (IRF / Intertraffic Exhibition) วันที่ 14 — 17 มิถุนายน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค ตั้งแต่เวลา 10.00 — 18.00 น. โดยในงานมีกว่า 200 หน่วยงานจาก ทั่วโลกร่วมกันจัดแสดงผลงานน่าทึ่งต่าง ๆ อาทิ ระบบการสั่งการล่วงหน้าในการขับขี่รถยนต์บนถนนหลวง (Advanced Cruise-Assist Highway System (AHS)) เครื่องขุดเจาะพื้นแบบเรดา (Ground Penetrating Radar (GPR)) สัญญาณจราจรพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar powered traffic warning light) เครื่องมือออกตั๋วแบบอ่านและถอดรหัสเอง (Reader- encoders ticket issuing machines) อุปกรณ์ทำเครื่องหมายถนนแบบเธอโมพลาสติก (Thermoplastic road marking material) เป็นต้น
การจัดงานในประเทศไทยครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งแรกในแถบเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย โดยมีกระทรวงคมนาคมและสมาคมทางหลวงแห่งประเทศไทยเป็นแม่งาน เพื่อตอกย้ำการก้าวสู่การเป็นฮับหรือศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของเอเชียอีกด้วย
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เอเชีย คองเกรส อีเว้นท์ส โทรศัพท์ 0 2960 0141 หรือคลิกเข้าไปดูรายละเอียดของงานเพิ่มเติมได้ที่เวปไซด์ www.irf2005.com
สื่อมวลชนต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
ยุวดี ชมบุญ/ เกษมศรี แก้วธรรมชัย
บริษัท ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด
โทรศัพท์ 0 2231 6158-9, โทรสาร 0 2231 6230
โทรศัพท์มือถือ 0 9669 5286 0 1611 4696
อีเมล์ yuwadi@thanaburin.co.th หรือ kasemsri@thanaburin.co.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ